ทุกวันนี้เรามีทางเลือกเยอะขึ้น เราต้องตัดสินใจมากขึ้นกับทางเลือกที่หลากหลาย ในขณะที่ “เวลา” ดูเหมือนจะมีน้อยเกินไป ที่จะเลือกว่าสิ่งไหนที่สำคัญต่อชีวิตเรามากที่สุด “paradox of choice” จึงเกิดขึ้น การตัดสินใจของคุณจะไม่ได้อ้างอิงจากเหตุผลอีกต่อไป เเละท้ายที่สุด คุณอาจจะไม่เลือกอะไรสักอย่าง…
สำหรับการศึกษาในปี ค. ศ. 2000 โดยนักจิตวิทยา Sheena Iyengar และ Mark Lepper พวกเขาได้ทดลองวางแยม 24 ชนิดไว้ที่จุดขาย ในซุปเปอร์มาร์เก็ตเเห่งหนึ่ง วันต่อมาเขาทดลอง วางเเยมเพียง 6 ชนิด ใน ซุปเปอร์มาร์เก็ตเดียวกัน
ผลปรากฏว่า ชุดเเยม 24 ชนิดเรียกร้องความสนใจได้ดีกว่า เเต่กลับกลายเป็น ชุดเเยม 6 ชนิดที่ขายได้ดีกว่า เขาพบว่าทางเลือกที่มากไปจะทำให้ลูกค้า “อึ้ง” เเละ “หยุดชะงัก” ความสนใจพวกเขาจะลดลงไปอย่างรวดเร็ว จนเขา “เลือก” ที่จะไม่ซื้อ
การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่กลายเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “paradox of choice” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ขัดแย้งกัน ทำให้เห็นว่า…
“ความพึงพอใจของเราลดลงเมื่อมีตัวเลือกเพิ่มขึ้น แม้ว่าเราจะคิดว่า…ทางเลือกที่เพิ่มขึ้นคือสิ่งที่เราต้องการ“
อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์นี้ ไม่สามารถใช้ได้กับทุกสถานการณ์ เช่นการศึกษาอื่น ๆ พบสิ่งที่เรียกว่า “ความไม่ชอบตัวเลือกเดียว” การที่ลูกค้าต้องเผชิญหน้ากับสินค้า 2 ตัวเลือก มีแนวโน้มที่จะ “ซื้อ” มากกว่า การมีเพียงผลิตภัณฑ์เดียว วิธีการเลือกหมวดหมู่ยังทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ต่างกัน มันสามารถสร้างสภาวะ “ไม่รู้จะเลือกอะไรดี” ให้ลูกค้าได้
ยังพบอีกว่า “ความวิตกกังวล” ของคนที่รู้สึกว่า “มีทางเลือกมากเกินไป” มีผลต่อการตัดสินใจในหลายๆกรณี เช่น กลุ่มตัวอย่างของพนักงาน ที่ต้องเจอกับทางเลือกหลายๆทางของแผนการเกษียณอายุ….มีโอกาสน้อยที่พวกเขาจะเข้าร่วม
สิ่งนี้เกิดขึ้นในระบบความคิดของนักเรียนเช่นกัน โดยเฉพาะนักเรียนในระดับมัธยม พวกเขาเรียนเยอะเเละหลากหลายเกินไปจนไม่รู้ว่าพวกเขาอยากจะเป็นอะไรกันเเน่ ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ไม่ได้ถูกออกเเบบมาให้นักเรียนสามารถเลือกวิชาที่พวกเขาสนใจจริงๆได้ พวกเขาต้องใส่ใจกับทุกๆวิชาเพื่อทำเกรด เเละใช้วัดผลในการเข้ามหาวิทยาลัย ในคณะที่พวกเขาไม่เเน่ใจด้วยซ้ำว่าชอบมันจริงๆรึเปล่า
ส่วนในด้านความรัก จะมีกลุ่มคนที่เรียกว่า Maximizers พวกเขาจะเลือกไปเรื่อยๆถึงเเม้อาจจะเจอคนที่ใช่เเล้วก็ตาม กลุ่มคนเหล่านี้จะไม่หยุด เเละจะพยายามค้นหาคนที่สมบูรณ์เเบบที่สุดให้ได้
อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นด้านตรงกันข้ามคือ Satisficers พวกเขาจะเจอสิ่งดีๆในตัวคนๆหนึ่งจนได้ เเละจะไม่ตั้งคำถามเเบบ “ถ้าฉัน…ฉันจะ…” เหมือนกลุ่ม Maximizers ซึ่งท้ายที่สุด กลุ่ม Maximizers อาจจะพบคนที่สมบูรณ์เเบบที่สุด หรือไม่ก็พบว่า… ทางเลือกดีๆนั้นได้หมดไปเเล้ว
Satisficers ไม่ใช่พวกแบบ “อะไรก็ได้…ฉันโอเคทั้งนั้น ” เเต่พวกเขาจะไม่เพิกเฉย หรือไม่ลดละที่จะพยายามตามหาด้านที่ดีของคนอื่น เเละมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในความรักได้มากกว่า เเต่ข้อเสียก็คือ พวกเขามักจะโดนเอาเปรียบอยู่เสมอ เพราะมัวเเต่สนใจด้านดีจนลืมด้านเสียไปซะหมด
ทางที่จะหลีกเลี่ยงการเป็น Maximizers หรือ Satisficers คือการให้โอกาสความสัมพันธ์เเบบ “แฟร์” กันทั้ง 2 ฝ่าย ดีกว่าการที่คุณ รอคอยคนที่สมบูรณ์เเบบ ที่อาจไม่มีวันเจอ หรือคนที่เเย่สุดๆที่หาข้อดีเเทบไม่เจอเช่นกัน
ทุกวันนี้ทางเลือกของเรามีเยอะเหลือเกิน เเต่มันไม่ได้หมายถึง คุณจะต้องตกใจ ตกตะลึงไปกับมัน จนทำให้คุณหยุดในการสร้างสรรค์หรือทำอะไรบางอย่างขึ้นมา ให้เกิดสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิตคุณ คุณสามารถตั้งสติ เเละเลือกสิ่งที่จำเป็นที่สุดในชีวิต ลดทางเลือกอื่นๆที่ไม่จำเป็นออกไปเรื่อยๆ เพื่อเอาชนะ paradox of choice
เพื่อที่คุณจะได้พบ…สิ่งที่คุณต้องการจริงๆในชีวิตเสียที
Sources : www.psychologytoday.com , medium.com