หลายๆคนประสบปัญหาการนอนไม่หลับ ( insomnia ) แต่ก็ยังมีผู้คนอีกส่วนหนึ่งที่หลับง่ายมากๆ และหลับนานเกินไปในบางครั้ง
การหลับมากเกินไปนี้อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีอย่างที่คิด เพราะมันอาจจะเป็นสัญญาณของโรคบางชนิดไม่ต่างจากการนอนหลับไม่เพียงพอ เช่นโรคซึมเศร้า หรือโรคที่ร้ายเเรงจนนำไปสู่การเสียชีวิต เช่น การไหลตาย (Brugada Syndrome)
Hypersomnia
เป็นอาการของคนที่หลับง่าย หลับนาน ซึ่งตรงกันข้ามกับ Insomnia หรือโรคนอนไม่หลับ
วิธีสังเกตของคนที่เป็น Hypersomnia คือ พวกเขาจะนอนหลับนานกว่าคนทั่วๆไป ที่ใช้เวลานอนราวๆ 7-8 ชม. และจะตื่นยากมากๆในตอนเช้า ในแบบที่นาฬิกาปลุกแค่ไหนก็ไม่ยอมตื่น จะชอบง่วงบ่อยๆระหว่างวัน รู้สึกว่าตัวเองไม่ค่อยมีสมาธิจะทำอะไรในตอนตื่น
นอนเยอะไปกับนอนน้อยไป…แย่พอๆกัน
มีผลการวิจัยระบุว่าคนที่มีสุขภาพดีมีโอกาสที่จะเป็นคนนอนน้อยมากกว่าคนที่นอนเยอะจนเกินไป
จากการศึกษาพบว่าผู้ใหญ่ที่นอนเยอะเกินไป มีรายงานว่าพวกเขาจะเหนื่อยง่ายขึ้น รู้สึกหงุดหงิดง่ายขึ้น มีอาการเฉื่อยชา ตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวได้ช้า ทำโจทย์ทางด้านคณิตศาสตร์ได้ไม่ดี
นอกจากนี้ยังมีผลการศึกษาที่ระบุว่า 40 % ของคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามักมีอาการ hypersomnia ซึ่งจะเกิดขึ้นส่วนใหญ่ในกลุ่มวัยหนุ่มสาว ส่วนผู้ใหญ่ก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน โดยเฉพาะผู้หญิงซึ่งจะมีอัตราเกิด hypersomnia สูงกว่าผู้ชาย พบว่าถ้าอาการซึมเศร้าก่อตัวขึ้นเยอะเท่าไรในช่วงกลางวัน พวกเธอจะใช้เวลานอนเยอะขึ้นเท่านั้น
นอกจากนี้ hypersomnia ยังมีความเชื่อมโยงกับโรคที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับอีกหลายๆโรคไม่ว่าจะเป็น..
Narcolepsy
เป็นอาการที่รู้สึกง่วงตลอดเวลา บางคนมีอาการหลับยาว หลับค้างจนคนอื่นคิดว่าเสียชีวิตไปแล้ว กล้ามเนื้อบางส่วนไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ และมีอาการเห็นภาพหลอนเมื่อตอนที่ตื่น
1 ใน 2,000 คน จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ ซึ่งสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดในการเกิดโรคนี้ก็คือการนอนหลับที่ยาวจนเกินปกติ ซึ่งมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมเวลานอนหลับได้
โดยทั่วไปผู้คนจะมีเวลานอนที่ชัดเจน ถ้าวันนี้คุณนอนหลับตอนสี่ทุ่มพรุ่งนี้คุณก็จะเริ่มง่วงขึ้นมาทันทีในช่วงเวลาเดียวกัน เเละจะตื่นในเวลาเดิมกับเมื่อวาน เเต่คนที่มีอาการ Narcolepsy จะไม่เป็นแบบนั้น ตารางการนอน การง่วงของพวกเขาจะไม่คงที่ ในช่วงตอนตื่นพวกเขาจะรู้สึกเหนื่อย เเละอยากที่จะนอนมากๆในช่วงกลางวัน บางวันก็นอนไม่หลับในตอนกลางคืน หรือถ้าหลับก็จะหลับไม่สนิท เพราะฉะนั้นตลอดทั้งวันพวกเขาจะคงสภาวะของ “การนอน” เอาไว้เเม้พวกเขาจะไม่ได้หลับก็ตาม จะเป็นคนที่ตื่นเเต่ไม่ได้มีอาการตื่นตัวตามปกติ
Obstructive sleep apnea
คือสภาวะรบกวนที่ทำให้นอนไม่หลับ เนื่องจากการที่กล้ามเนื้อคลายตัวจนไปบังหลอดลมทำให้หายใจติดๆขัดๆระหว่างการนอน มีอาการกรนเสียงดัง คอแห้งและเจ็บคอตอนที่ตื่น จะรู้สึกง่วงนอนมากๆตอนกลางวันจนทำให้เกิดการหลับใน ไม่มีสมาธิ ปวดหัวในตอนเช้า ความดันสูง
ตกลงแล้วนอนแค่ไหนถึงจะพอ?
แท้จริงแล้วมีหลายๆปัจจัยที่ทำให้เเต่ละคนใช้เวลานอนไม่เท่ากันไม่ว่าจะเป็น
– เรื่องยีนที่ต่างกัน ช่วงอายุที่ต่างกัน ถ้าคุณแก่ตัวลง สัก 50 – 60 ปี คุณสามารถนอนราวๆ 6 ชม.ได้โดยไม่กระทบกระเทือนชีวิตประจำวันในยามที่คุณตื่น ต่างจากช่วงอายุยังน้อยที่ต้องใช้เวลานอนราวๆ 7-8 ชม. ต่อวัน ถึงจะเหมาะสม
– การทำงานต่อวัน ถ้าคุณใช้เเรงเยอะในตอนกลางวัน คุณจะต้องการเวลานอนมากกว่าปกติเพื่อเป็นการชดเชยพลังงานที่เสียไป
– เรื่องสุขภาพ ถ้าคุณมีปัญหาด้านสุขภาพ เป็นธรรมดาที่ต้องเพิ่มเวลานอนเข้าไปเพื่อเป็นการฟื้นฟูร่างกาย เช่น การเป็นโรคที่ไม่ร้ายเเรงมากอย่างการเป็นหวัด หรือโรคทางจิตเวช การนอนก็สามารถช่วยทำให้อาการดีขึ้นได้
– สถานการณ์รอบตัว หลักๆแล้วมันจะเกี่ยวข้องกับความเครียดในตัวคุณที่เกิดจากบริบทรอบตัวในชีวิตประจำวัน หนึ่งในวิธีการจัดการที่ดีที่สุดต่อความเครียด คือการนอน ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหานอนไม่หลับเพราะมัวแต่คิดถึงเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น เเต่เมื่อร่างกายต้านทานไม่ไหว สุดท้ายคุณจะต้องหลับอยู่ดี และมันจะเป็นการหลับยาวเพื่อเป็นการชดเชยโดยอัตโนมัติ
คนส่วนใหญ่ต้องการเวลานอน 7 – 9 ชม.ต่อวัน แต่บางคนสามารถฝึกฝนให้นอน 6 ชม. ต่อวันได้ แต่ถ้าต่ำกว่า 5 ชม.ต่อวัน พวกเขาเเทบไม่สามารถควบคุมตัวเองตอนตื่นให้เป็นเป็นปกติได้เลย และมีโอกาสสูงที่จะเกิดโรคต่างๆตามมาโดยเฉพาะโรคทางจิตเวช
คุณอาจไม่เเน่ใจว่าตกลงคุณหลับนานเกินไป หรือนอนน้อยเกินไปรึเปล่า? วิธีที่จะสังเกตได้ดีที่สุดคือช่วงเวลาตื่น ถ้าคุณรู้สึกว่าตัวเองเมื่อย เหนื่อย ไม่มีเเรงจะทำอะไร นั่นเป็นสัญญานว่าคุณนอนมากเกินไปหรือนอนน้อยเกินไป จะเป็นการดีที่เราพยายามหาช่วงเวลาที่เเน่นอนว่าเราควรนอนนานเเค่ไหน เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการตื่น
ไม่อยากนอนนานเกินไป
– ระบุให้แน่ชัดไปเลยว่าต้องการนอนกี่ ชม. พยายามหาเวลาที่เหมาะสมให้ได้ว่าตัวคุณเหมาะที่จะนอนกี่ ชม. ต่อวัน
– ตื่นนอนเวลาเดียวกันในทุกๆเช้า แม้เเต่ในช่วง เสาร์ อาทิตย์
– หลีกเลี่ยงการเลื่อนนาฬิกาปลุก
– เข้านอนเป็นเวลา สามารถช้ากว่าเดิมหรือเร็วขึ้นไม่เกิน 1-2 ชม.
– จัดตารางนอนให้คุ้นชิน 2 สัปดาห์ เพื่อร่างกายจะได้จดจำเวลานอนของคุณแบบอัตโนมัติ
– ทานอาหารเช้า เพื่อเป็นการชาร์จพลังให้ร่างกายตื่นตัวตลอดทั้งวัน
– กำหนดจุดหมายในชีวิต ถามตัวเองว่าอะไรที่คุณแคร์มากที่สุด เเล้วตื่นขึ้นมาทำสิ่งนั้น คนที่มีจุดหมายในชีวิตส่วนใหญ่จะตื่นขึ้นมาอย่างมีพลัง และใช้ชีวิตในยามที่ตื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Sources: www.psychologytoday.com www.ncbi.nlm.nih.gov www.amerisleep.com
ติดตามเพจ: www.facebook.com/WeTheVaporTH