ความลำเอียงที่นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด – Cognitive Bias

Cognitive Bias คือการสร้างรูปแบบความจริงบางอย่างขึ้นมาเพื่อใช้ในตัดสินใจ ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ผิดพลาด คลาดเคลื่อน นำไปสู่ปัญหาต่างๆตามมาทั้งต่อตนเองและผู้อื่น

มีปัจจัยหลายด้านที่ทำ Cognitive Bias เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพยายามหาคำตอบให้เร็วที่สุดในสถานการณ์บังคับ การตัดสินใจโดยยึดอารมณ์เป็นที่ตั้ง อิทธิพลจากแนวคิดของคนอื่นในสังคม การประมวลผลของสมองที่มีจำกัด หรือเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเก็บ-ลบข้อมูลของความทรงจำ

เราได้ทำการคัดเลือกความลำเอียง 14 รูปแบบเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจว่า ความลำเอียงมักจะเข้ามาท้าทายกระบวนการคิดของเราอยู่เสมอ

ลองไปดูกันสิว่ามีความลำเอียงเเบบไหนบ้างที่เราตกเป็นเหยื่อ…

Anchoring bias – เชื่อเร็วไป

ผู้คนจะตื่นเต้นกับข้อมูลเเรกๆที่เขาได้รับ เชื่อ เเละเเชร์มันอย่างรวดเร็วโดยไม่ได้ไตร่ตรองอะไรใดๆ

สังเกตง่ายๆคือการตั้งราคาสินค้า คนขายจะตั้งราคาไว้สูงกว่าความเป็นจริงในช่วงแรกให้ผู้คนได้จดจำ และเชื่อว่ามันดูแพงซึ่งต่อมาก็ทำการลดราคาเพื่อทำให้ผู้คนมองว่ามันคุ้มค่าที่จะซื้อมากขึ้น

เช่นเดียวกับของที่ถูกแสนถูก คนขายต้องการทำให้คนเชื่อว่ามันถูกจริงๆแล้วคุ้มที่จะเข้ามาซื้อ จากนั้นก็ค่อยเพิ่มราคาสินค้าด้วยเงื่อนไขต่างๆ เช่นภาษี ค่าขนส่ง ค่าบริการต่างๆ เป็นต้น

Availability heuristic – เชื่อว่าฉันรู้…เธอนั่นแหละไม่รู้

คิดว่าข้อมูลที่ตัวเองมีอยู่ในมือคืออะไรที่เจ๋งที่สุดเกินกว่าความเป็นจริง ถึงเเม้จะมีคนบอกพวกเขาว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งไม่ดี เสียสุขภาพ พวกเขาจะนึกภาพคนที่มีอายุยืนยาวสูบบุหรี่วันละหลายๆเเพคขึ้นมาในหัวเเทน พวกเขาจึงไม่สนต่อคำเตือนใดๆ

สิ่งที่เขาชำนาญคือการเพิกเฉยต่อปัจจัยอื่นๆนอกเหนือจากข้อมูลที่พวกเขามี อะไรที่โผล่เข้ามาในความคิดได้ก่อน สิ่งนั้นคือสิ่งที่ถูกต้องและพวกเขาก็จะสรุปมันอย่างรวดเร็ว

แต่ข้อดีของมันก็คือบางสถานกาณ์ที่จำเป็นที่จะต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วพวกเขาเหล่านี้จะทำได้ดีกว่าคนทั่วไป เช่น การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด

Bandwagon effect – เชื่อว่าเยอะๆอาจจะดีจริง

ยิ่งคนเชื่อเยอะ ยิ่งมีโอกาสที่คนจะเชื่อตาม นี่คือพลานุภาพระบบการคิดเชิงกลุ่ม ยิ่งมากันเป็นกลุ่มพลังเเห่งความเชื่อก็จะถูกขับดันให้สูงขึ้นตามจำนวนคน

ถ้าคุณเห็นคนเข้าร้านนี้เยอะคุณก็อยากจะลองเข้าไปดูสักครั้ง

แนวคิดนี้ทำให้เกิดงานอีเวนท์หลายๆงาน เช่นการที่เชิญดารามาแล้วให้เหล่าแฟนๆตามมาดูเยอะๆจนคนอื่นๆเชื่อไปเองว่าสินค้ามันดีจริง งานปราศรัยเลือกตั้ง งานแห่ขบวนพาเหรด การสร้างลัทธิความเชื่อบางอย่างขึ้นมา การเรียกยอดไลท์เยอะๆ ผู้ติดตามเยอะๆ เพื่อให้องค์กรดูน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น

Confirmation bias – เชื่อข้อมูลของฉัน…เชื่อถือได้ที่สุด

เมื่อผู้คนต้องการให้ความเชื่อเหล่านั้นเป็นความจริง…มันจะกลายเป็นความจริงขึ้นมา

พวกเขาจะหยุดรับข้อมูลใหม่ๆ แต่พวกเขาจะเลือกรับข้อมูลที่พวกเขาชอบเท่านั้น

ถ้าพวกเขาเชื่อว่าการส่งยานอวกาศ Apollo ไปสำรวจดวงจันทร์เป็นเรื่องหลอกลวง ต่อให้คนเอาข้อมูลมาพิสูจน์เป็นร้อยเป็นพันพวกเขาก็จะไม่เชื่ออยู่ดี

Conservatism bias – เชื่อว่ายิ่งแก่ยิ่งมากประสบการณ์

พวกเขาจะเชื่อในข้อมูลเก่าๆมากกว่าข้อมูลใหม่ๆ

พอมาถึงช่วงที่พวกเขาต้องตัดสินใจอะไร พวกเขาจะพึ่งพาข้อมูลเก่า แทนที่ DATA ในปัจจุบัน

เมื่อผู้ประกอบการมองธุรกิจที่ตัวเองทำอยู่ไม่ได้มีปัญหาอะไรในอดีต พวกเขาจะเชื่อว่ามันก็น่าจะเป็นแบบนี้ต่อไปในอนาคตด้วย

ถ้าธุรกิจเริ่มแย่พวกเขามีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวน ไม่ก็เพิ่มราคา หรือลดกระหน่ำของที่ขาย แต่ไม่ได้เปลี่ยนวิธีการขายใดๆที่เข้ากับปัจจุบัน

ส่วน Recency bias ก็จะเป็นตรงข้ามกัน พวกเขาจะเชื่อว่าข้อมูลใหม่ๆน่าเชื่อถือกว่าข้อมูลเก่าๆ เช่น ความเชื่อที่ว่าหนังใหม่ๆย่อมดีกว่าหนังเก่าๆ

Ostrich effect – ไม่เชื่อ ไม่ยอมรับความจริงที่ปวดร้าว

เมื่อพวกเขารู้สึกไม่สบายใจในการรับข้อมูลบางอย่างพวกเขาจะหนี ไม่สนใจ ทำหูทวนลม บ่ายเบี่ยง หรือบางทีก็ยกข้อมูลเชิงบวกขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นโดยไม่สนปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

บางคนหลีกเลี่ยงที่จะไปหาหมอเพราะกลัวว่าจะเจอโรคอะไรที่เขารับไม่ได้

พวกเขาจะยื้อสถานการณ์ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้เหมือนรอปาฏิหาริย์บางอย่างจนปัญหามันยากที่จะแก้ไข

Outcome bias – เชื่อในผลลัพธ์

ตัดสินใจโดยยึดผลลัพธ์เป็นหลัก โดยไม่สนวิธีการอะไรเลย ถูกหรือผิด หรือมันจะส่งผลอะไรในภายหลัง

ผู้คนที่ติดการพนันมักเคยได้เงินเยอะๆมาก่อน พวกเขาคิดว่าวิธีที่เขาใช้มันดูฉลาดสุดๆ พวกเขาจะใช้วิธีเดิมในการเดิมพันครั้งต่อไป

ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน พวกเขาก็จะไม่หยุด และดื้อดึงที่จะใช้วิธีเดิมต่อไป

หรือในตัวอย่างของระบบการโกงเเชร์ลูกโซ่ที่ผู้คนมักจะได้เงินเยอะๆมาก่อนช่วงเเรก ทำให้ตายใจไปก่อน คิดว่าพวกเขามาถูกทาง สุดท้ายก็ถูกโกง

Survivorship bias – เชื่อว่าประสบความสำเร็จโดยมองข้ามความล้มเหลว

หลายๆคนอยากจะเป็นเจ้าของกิจการขึ้นมา ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาไม่ค่อยได้ยินเรื่องล้มเหลวของผู้บริหารเท่าไรนัก คนเหล่านี้จะสนใจตัวอย่างจากคนที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น ทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าไม่มีผู้ที่ล้มเหลวเลย

เช่นเดียวกัน คนบางคนไม่กล้าที่จะทำอะไรเลย เพียงเพราะว่าพวกเขาเห็นความล้มเหลวในตัวคนอื่นมากเกินไป

ผู้คนที่เล่นหวยอยู่ก็เพราะพวกเขาเห็นคนที่ถูกหวย ถ้าคนถูกหวยซื้อรถคันสีแดงก่อนที่จะถูกหวย รถสีแดงก็มีโอกาสที่จะขายได้ดีกว่าปกติ ถ้าร้านไหนมีคนถูกหวยเยอะ คนที่เล่นหวยก็อยากจะไปซื้อที่ร้านนั้น

Halo effect – เชื่อว่าภายนอกเป็นไงข้างในก็เป็นงั้น

พวกเขาจะวาดภาพไว้ในหัวขึ้นมาเพื่อจะได้ตัดสินคนอื่นอย่างรวดเร็ว เป็นข้อมูลสำเร็จรูป

เช่น มองคนอ่อนน้อมเป็นคนดี ยิ้มเก่งเป็นคนมีเมตตา สักลายเป็นคนเลว หรือพวกที่กล้ามใหญ่ ตาตี่ สูง ใส่แว่น พูดจาไพเราะ ไว้หนวด ชอบลิเวอร์พูล แต่งตัวไม่เรียบร้อย ชอบพูดหยาบคาย พวกเขาจะตัดสินไว้หมดแล้ว

พวกเขาจะเลือกและคัดสรรผู้คนให้เป็นเพื่อนหรือศัตรูอย่างรวดเร็วจากรูปลักษณ์ภายนอกตามทฤษฏีความเชื่อของตนเอง

พวกเขาจะมองว่าการพยายามรู้จักตัวตนที่เเท้จริงของผู้คนเป็นเรื่องที่เสียเวลา

Courtesy bias – เชื่อว่าการโต้เถียงคือสิ่งไม่ดี

อาการของคนรักความสงบกับคนที่พยายามหลบเลี่ยงการเผชิญหน้ากับปัญหามีเส้นบางๆกั้นเอาไว้อยู่

คนบางคนหลีกเลี่ยงการพูดถึงสิ่งที่อาจทำให้ทะเลาะกัน โดยที่ปัญหายังไม่ถูกแก้ไขใดๆ

พวกเขาจะตัดสินใจเลือกสิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นด้วยเอาไว้ก่อนเพื่อรักษาความสงบ อะไรที่ทำให้เกิดการถกเถียง หรือยืดเยื้อพวกเขาจะไม่เอา

สุดท้ายปัญหาก็จะไม่ได้ถูกแก้ไขสักที

Self-serving bias – เชื่อว่าตนเองไม่ผิด

เรื่องแย่ๆหรือข้อผิดพลาดเกิดขึ้นจากคนอื่นทั้งนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากตนเองเลย

ถ้าอะไรดีๆเกิดขึ้นก็จะรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนสำคัญในนั้น

ถ้าพวกเขาเล่นพนันชนะ พวกเขาจะรู้สึกว่ามือขึ้น รู้สึกว่าตัวเองอ่านเกมได้อย่างชาญฉลาด แต่พอเสียพวกเขาจะรู้สึกว่าวันนี้โชคไม่ดีจัง

Functional fixedness – เชื่อว่าไม่มีอะไรทดแทนกันได้

พวกเขาจะมองว่าของสิ่งหนึ่งสามารถใช้งานได้เฉพาะอย่างเท่านั้น ถ้าพวกเขาไม่มีค้อนเอาไว้ตอกตะปูพวกเขาจะไม่มองว่าก้อนหินก็สามารถทุบตะปูได้เหมือนกัน

วิธีการนี้ส่งผลต่อการทำงานในลักษณะองค์กร ถ้าพวกเขาเป็นหัวหน้าพวกเขาจะไม่มองว่าผู้ช่วยของเขามีศักยภาพพอที่จะเป็นหัวหน้าได้เหมือนกับเขา

พวกเขาจะตัดสินไปก่อนโดยไม่ได้พิจารณาถึงทักษะต่างๆของคนอื่นเลย และมักจะหาว่าคนอื่นไม่มีน้ำยาจะทำอะไร

Illusion of validity – เชื่อว่าคนอื่นจะรู้สึกเหมือนที่ตนรู้สึก

คาดการณ์ว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับเราสามารถเกิดขึ้นได้กับคนอื่น สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนอื่นสามารถเกิดขึ้นได้กับเรา อะไรที่ขายได้ที่อื่นอาจจะขายได้ในบ้านเรา เพิกเฉยต่อปัจจัยอื่นๆที่ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ต่างกัน

พวกเขาจะเชื่อในแพทเทิร์นบางอย่างที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาแล้วเชื่อว่าต่อไปในอนาคตก็จะเกิดขึ้นแบบนั้นซึ่งมันอาจจะไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป

ผู้คนวางใจเกินไปว่าอนาคตเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ง่ายๆ

Choice-supportive bias – เชื่อในคนที่ตนเองสนับสนุน

ถ้าพวกเขาได้ตัดสินใจเลือกอะไรไปเเล้ว พวกเขาจะคิดว่าสิ่งนั้นดีที่สุดโดยไม่สนข้อหักล้างอื่นๆเลย เฉยเมยต่อข้อเท็จจริงว่าพวกเขาอาจจะเลือกผิด

คุณอาจจะเลี้ยงหมาตัวนึงที่เที่ยวกัดชาวบ้านไปทั่ว ในขณะที่ชาวบ้านเดือดร้อนคุณกลับรู้สึกว่าหมาตัวเองเจ๋งสุดๆไปเลย

เมื่อคุณโดนทวงบุญคุณอะไรบางอย่าง Choice – supportive bias จะกลับมาทำงานอีกครั้ง

จะเห็นได้จากผู้บริหารชอบพูดถึงผลงานเก่าๆ คว้าแชมป์มาแล้วกี่แชมป์ให้กับทีมที่คุณรัก หรือเงินที่ให้กับคุณในช่วงที่ลำบากที่สุดในชีวิต พวกเขาจะกลับมาทวงความรู้สึกเดิมให้คุณรู้สึกผิด เตือนสติว่าคุณเคยสนับสนุนเขามาก่อน

 

 

Source : en.wikipedia.org

follow

Advertisement

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

%d bloggers like this: