การเห็นคุณค่าในตัวเอง ( self-esteem ) กับความมั่นใจในตนเอง ( self-confidence ) มีความใกล้เคียงกันมากเเต่ก็ยังไม่เหมือนกันเสียทีเดียว
สิ่งที่เหมือนกันที่สุดของแนวคิดทั้งสองคือเรื่อง “ทัศนคติที่มีต่อตนเอง”
เห็นค่า “ตัวเอง” มากเเค่ไหนในสังคม มั่นใจ “ตัวเอง” มากเพียงใดในการแก้ปัญหา
Self-Esteem กับ Self-confidence ต่างกันยังไง?
Self-esteem จะเป็นความรู้สึกดีๆที่มีต่อตนเอง จะมีมากหรือมีน้อยขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในอดีต ส่วน Self-confidence คือความรู้สึกเชื่อมั่นในศักยภาพตัวเองในการจัดการกับปัญหา
เป็นไปได้ที่คนที่รักชีวิตตัวเอง ภูมิใจในตนเองสุดๆ จะขาดความมั่นใจในการแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะถ้าพวกเขาไม่เคยขึ้นเวทีมาก่อนในชีวิต และก็มีให้เห็นเหมือนกันกับคนที่มั่นใจตัวเองสุดๆในที่สาธารณะ เเต่ก็ไม่รู้สึกภูมิใจในตนเองเอาซะเลย ชอบโทษ ชอบต่อว่าตัวเองอยู่บ่อยๆ
ด้วยเหตุที่ Self-esteem จะเชื่อมโยงกับประสบการณ์ เราจะเห็นได้จากนักกีฬาระดับโลกที่ผ่านการฝึกซ้อมมาอย่างหนัก พวกเขาไม่ได้ฝึกเพียงให้ตัวเองรู้เท่านั้นว่าควรจะเล่นยังไง เเต่พวกเขาต้องการสร้างประสบการณ์ ให้ตัวเองได้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น เมื่อลงสนามจริง
นักฟุตบอลที่ถูกจับนั่งเป็นตัวสำรองบ่อยๆย่อมมี ทั้ง Self-esteem และ Self-confidence น้อยกว่าคนที่ลงสนามเป็นประจำ พอลงมาสนามจริงๆพวกเขาก็มักจะทำผลงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมนักฟุตบอลหลายคนถึงไม่สามารถทนที่จะเป็นตัวสำรองได้ พวกเขารู้ว่า มันจะต้องใช้ระยะเวลา(ประสบการณ์ในสนาม)ประมาณหนึ่ง ถึงจะทำให้ Self-confidence ก่อตัวขึ้นมาได้ และแข็งแกร่งพอที่จะเเก้ไขสถานการณ์ในสนามให้ดีขึ้น
แต่ถ้ามี Self-esteem สูงเกินไป มันจะนำไปสู่…
Narcissism – หลงตัวเอง
เมื่อผู้คนมีพื้นที่ที่ไร้ขอบเขต และเกินขอบเขตในการเเสดงออกถึงความภูมิใจในตนเองบนโลกโซเชียลฯ พวกเขามีเเนวโน้มว่าจะเป็น Narcissism
ตัวอย่างที่ดีที่สุดของคนเหล่านี้คือ เเม่มดใจร้ายในเรื่องสโนไวท์ที่ชอบส่องกระจกเเละชมเเต่ตัวเอง
Narcissism จะพยายามหาลู่ทางที่จะรักษาคุณค่าของตัวเองโดยไม่คำนึงถึงเหตุผลใดๆ พวกเขาจะไปอยู่ในโลกส่วนตัวที่ยึดตรรกะของตนเองเป็นที่ตั้งโดยไม่สนความคิดของคนอื่น สิ่งที่พวกเขาชอบทำคือการสร้างกลุ่มที่มีความเชื่อคล้ายๆกับตนเองขึ้นมา เพื่อทำให้ตรรกะที่ตัวเองได้สร้างไว้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นและมองคนที่เห็นต่างจากกรอบความคิดของตนเองว่าเป็นพวกไร้สาระ ไร้ค่า คนละชั้น
Narcissism จัดว่าเป็นเป็นโรคทางจิตเวชแบบหนึ่ง มันมีความสอดคล้องอย่างมากกับยุคสมัยที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้เเสดงออกถึงความภูมิใจในตนเองอย่างเต็มที่ใน Facebook instagram
การที่ผู้คน กดไลก์ กดเเชร์ คอมเมนต์ ยิ่งทำให้ Narcissism ในตัวของคนเหล่านั้นเติบโตยิ่งขึ้น ถ้าคนเหล่านั้นได้สร้างตรรกะขึ้นมาว่า..
การเป็นจุดสนใจ = ประสบความสำเร็จ = ฉันเป็นคนพิเศษ = ฉันงามเลิศในปฐพี (ในบริบทของแม่มดใจร้าย)
มีงานวิจัยพยายามสังเกตแนวคิด Narcissism ในโลกโซเชียลฯ ซึ่งพวกเขาสรุปออกมาได้ดังนี้
– พวกเขาจะชอบใช้สื่อโซเชียลฯในการเเสดงความคิดเห็นของตนเอง
– พวกเขาจะชื่นชอบการมีกลุ่มสนับสนุน เช่นยอดติดตามในโซเชียลฯ หรือสายสัมพันธ์กับ Narcissism คนอื่นๆ
– พวกเขาจะชอบมองภาพรวม ถ้าพวกเขาไม่ชอบองค์กรไหน ทุกคนในองค์นั้นจะกลายเป็นศัตรู
– พวกเขาจะควบคุมตัวเองไม่ได้ ขาดสติ
– มองไม่เห็นข้อผิดพลาด ข้อเสียในตนเอง แล้วดูเหมือนว่าจะไม่ยอมปรับปรุงเเก้ไขให้ดีขึ้น
– ใช้ความสามารถพิเศษบางอย่างที่จะทำให้ตนเองรอดจากปัญหา
– มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนอื่นเพราะให้ความสำคัญตัวเองสูงที่สุด
– มักจะโอ้อวดเกินจริงเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น
แต่ Narcissism ก็จะมีอะไรหลายๆอย่างที่คล้ายคลึงกับ Individualism …
Individualism กับ Narcissism ต่างกันยังไง?
ใกล้กันมาก แต่ก็ไม่เหมือนกันอยู่ดี ( เอาอีกแล้วนะ )
ผู้ใหญ่มักจะมองเด็กรุ่นใหม่ว่าเป็น Narcissism เป็นพวกชอบหลงตัวเอง ชอบถ่าย ชอบแชร์อะไรต่างๆในโลกโซเชียลฯ มองอะไรตื้นเขิน โดนหลอกง่าย
ซึ่งก็พอจะเข้าใจได้ เพราะผู้ใหญ่เหล่านั้นมองเด็กรุ่นใหม่ผ่านประสบการณ์ของตัวเอง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ไม่รู้ว่ากระบวนการในโลกออนไลน์ทำงานอย่างไร
สิ่งที่ผู้ใหญ่มักจะลืมไป คือ คนรุ่นใหม่เข้าถืงโลกดิจิทัลตั้งเเต่อายุยังน้อย ซึ่งเป็นวัยที่สมองมีการปรับตัวเเละเรียนรู้เร็วกว่าผู้ใหญ่ ทำให้กระบวนการคิดในสมองคนรุ่นใหม่ถูกปรับให้สอดคล้องกับโลกดิจิทัลอย่างเป็นธรรมชาติ
เหมือนคนป่าที่ถูกฝึกฝนให้วิ่งอยู่ในป่าแอมะซอนมาตั้งเเต่เด็ก กับนักสำรวจมากประสบการณ์ที่มาสำรวจป่าแอมะซอนเป็นครั้งแรก ลองจินตนาการดูสิว่าใครจะรอด?
คนรุ่นใหม่จะเเยกเเยะสิ่งที่อยู่ในโลกออนไลน์ได้ดีกว่าผู้ใหญ่เพราะธรรมชาติของสมองถูกฝึกมาแบบนั้น พวกเขาจะรู้ว่าอะไรก็ตามที่อยู่ในโลกออนไลน์มันจะไม่หายไปไหน พวกเขาจะรู้ว่าอินเทอร์เน็ตจะสร้างประโยชน์ให้กับตัวเขาได้อย่างไร สร้างกลุ่มสังคมผ่านการเเชร์ประสบการณ์เเลกเปลี่ยนความคิดกันไปมาได้อย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพ รวมถึงจะสร้าง Self-esteem ให้กับตนเองได้อย่างไรด้วย
พวกเขามองเห็นสังคมได้รอบด้านในทุกๆระดับชนชั้น ทำให้เข้าใจสังคมในหลากหลายมิติมากกว่าคนรุ่นเก่าที่ผ่านการเรียนรู้จากสื่อไม่กี่ประเภทที่ถูกคัดมาอีกทีว่าเเบบไหนผิดแบบไหนถูก
เพราะฉะนั้นโลกโซเชียลฯในสายตาของคนรุ่นใหม่จะไม่ใช่เครื่องมือในการสร้าง Narcissism เหมือนที่คนรุ่นเก่าบางคนคิดและปฏิบัติ แต่มันจะเป็นเครื่องมือในการสร้าง Individualism มากกว่า
Individualism จะมองว่าโลกโซเชียลฯเป็นสื่อกลางในการเเสดงตัวตนของตนเองมากกว่า ว่าพวกเขาชอบอะไร ต้องการอะไร อยากเห็นสังคมเป็นแบบไหน สังคมเเบบไหนที่พวกเขาอยากจะเข้าไปอยู่ พวกเขาจะคอยสนับสนุนใครก็ตามที่มีจุดยืน มีความคิดเป็นของตนเองชัดเจนแล้วพยายามต่อสู้กับเเนวคิดนั้น เชื่ออย่างเต็มเปี่ยมว่าทุกคนล้วนเสมอภาคกัน ไม่ยึดมั่นในความสมบูรณ์แบบ และเชื่อว่าชีวิตของเราจะต้องเป็นคนกำหนดเองไม่ใช่ให้ใครมากำหนด อันเป็นเเนวคิดสำคัญที่จะทำให้พวกเขารักตัวเองมากขึ้น
แต่ถ้า Individualism มีมากเกินไปก็จะทำให้เกิดผลเสียได้ไม่ต่างกัน
Sources : www.healthyplace.com/The Difference Between Self-Esteem and Self-Confidence, www.mayoclinic.org/Self-esteem check: Too low or just right, www.healthyplace.com/What Happens When Your Self-Esteem Is Too High, www.self-confidence.co.uk ,www.verywellmind.com
One thought on “ทำไมบางคนถึงมั่นใจตัวเองเกิ๊นนน – Self-Esteem / Self-confidence / Narcissism / Individualism”