Identity diffusion คือวิกฤตในชีวิตเเบบหนึ่ง มักจะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ ที่ไม่รู้ว่าเราคือใครกันเเน่หรือเราอยากจะทำอะไรในชีวิต
ต่างจากคนอื่นๆ ที่เมื่อพวกเขา “ไม่รู้” ว่าตัวตน( identity ) ของตัวเองคืออะไร พวกเขาจะพยายามค้นหา
เเต่สำหรับคนที่เป็น Identity diffusion พวกเขาจะไม่รู้สึกสนใจอะไรเป็นพิเศษ และไม่คิดหรือพยายามที่จะค้นหาตัวตนของตัวเอง
สมมติว่ามีคนกำลังถกเถียงกันเรื่องชีวิตหลังความตาย หรือจะเป็นเรื่องการเมือง ความรัก ศาสนา ธุรกิจ คนที่เป็น Identity diffusion จะ “เลือก” ที่จะไม่คิดกับเรื่องนั้นดีกว่า เเทนการคิดตามว่ามันเกิดอะไรขึ้นในเรื่องเหล่านั้น
ในยุคหนึ่งมีเหล่าฮิปปี้เเพร่กระจายไปทั่วโลก พวกเขาดูมีความสุขกับทุกสรรพสิ่ง รู้สึกสงสัยเเละอยากหาคำตอบกับทุกอย่าง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับที่เกิดขึ้นกับคนที่เป็น Identity diffusion โดยสิ้นเชิง
เกิดขึ้นเมื่อไร?
โดยปกติเเล้ว Identity diffusion จะเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น ในยามที่ผู้คนพยายามจะสร้างรูปแบบตัวตนบางอย่างขึ้นมาเพื่อนำไปใช้ในอนาคต ไม่เกี่ยวว่ามันจะเป็นด้านดีหรือด้านไม่ดี
เพราะฉะนั้นช่วงเวลานี้จึงถือว่าเป็นช่วงหนึ่งที่สำคัญในชีวิต ที่จะบอกว่าเราจะเป็นคนเเบบไหนในสังคมเมื่อตอนโต เป็นคนที่สร้างประโยชน์ให้สังคม เป็นคนที่สร้างเเต่ความวุ่นวาย หรือเป็นคนที่ไม่ทำอะไรเลย
ถ้าเราไม่เลือก เราจะติดอยู่ในความสับสนว่าตัวเองควรจะอยู่ส่วนไหนบนโลก รู้สึกว่าตนเองไม่มีความสุข ซึ่งความรู้สึกนี้จะส่งผลต่อเนื่องยาวนานตอนที่อายุเยอะขึ้น
ท้ายที่สุดเป้าหมายชีวิตของคนที่มีอาการ Identity diffusion จะเป็นการหาวิธีทำอย่างไรเพื่อที่ตนเองจะได้ไม่ไปถึงเป้าหมาย
พวกเขาจะหลีกเลี่ยงอะไรที่มันดูเสี่ยงเกินไปที่จะรู้สึกผิดหวัง หรือเเม้เเต่หลีกเลี่ยงการหาวิธีที่จะทำให้ตนเองมีความสุข คนที่มีสภาวะสับสนนี้รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ถูกชักจูงได้ง่าย รู้สึกตัวเองขาดอิสระ ไม่สนใจหรือใส่ใจเรื่องการเมือง ศาสนา หรือมุมมองต่างๆของโลก ของคนอื่นๆในสังคม
ค้นหาตัวตน
ผู้คนสามารถเปลี่ยนแปลงตัวตนของตัวเองได้ตลอดเวลา เด็กส่วนใหญ่จะยังไม่มีความรู้สึกที่ชัดเจนว่าพวกเขาอยากเป็นอะไร อะไรที่เขายืนหยัด ต่างจากวัยรุ่นที่จะเริ่มพบว่าสิ่งไหนที่พวกเขาสนใจจริงๆ
ถ้าพวกเขารู้สึกว่าได้ “ค้นพบ” ตัวตนของตัวเอง พวกเขาจะเริ่มทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อทำให้เกิดผลในอนาคตลักษณะคล้ายๆการลงทุน
ถ้าพวกเขารู้สึกว่าอยากเป็นนักกีฬาพวกเขาจะเริ่มซ้อมมันอย่างหนัก ถ้าพวกเขาอยากเปิดร้านกาแฟพวกเขาจะเริ่มหาข้อมูลและเริ่มทำกาแฟเองดู
จากศึกษาพบว่า อาการสับสนในตนเองนี้สามารถพบได้กับคนทุกเพศทุกวัย ผู้ใหญ่บางคนยังไม่รู้ว่าตัวเองจะทำอาชีพอะไร นับถือศาสนาอะไร มีวิธีคิดทางการเมืองแบบใด
นักวิจัยยังพบว่าคนที่ยังสับสนในตัวเองตอนที่เป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว พวกเขาจะยังคงหลีกเลี่ยงที่จะไปพบกับโอกาสใหม่ๆ รู้จักคนใหม่ๆ หรือเเม้เเต่ยังไม่เเน่ใจกับงานที่ตัวเองทำอยู่ว่าใช่รึเปล่า
พวกเขามักจะมองว่าโลกเต็มไปด้วยเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ พวกเขาจึงหยุดที่จะค้นหา หรือสร้างประสบการณ์ใหม่ๆเพื่ออนาคตของตัวเอง
ยังมีหลายๆสถานการณ์ที่ทำให้คนเปลี่ยนความคิด และเปลี่ยนตัวตนของตัวเองได้เช่น
– เริ่มทำงานหรือสูญเสียงาน
– เริ่มมีแฟนหรือเลิกกับแฟน
– มีลูก
– สูญเสียคนที่รักไป
– ได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรค หรือสภาวะที่เกิดขึ้นกับตนเอง
ทฤษฎีค้นหาตัวตน
โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน วิกฤตตัวตน( Identity Crisis )จึงกลายเป็นสิ่งที่เป็นปกติและสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่เพียงแต่วัยรุ่นเท่านั้น
น่าสังเกตว่าวิกฤตตัวตนนี้สามารถพบได้ตามปกติในคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า, bipolar disorder , borderline personality disorder
นักวิจัย James Marcia ได้สร้างทฤษฎีตัวหนึ่งเอาไว้ใช้ในงานวิจัย เพื่อใช้ในการแยกแยะระดับความสับสนในตนเอง โดยเเบ่งตามวิธีการค้นหาตัวตนในเเต่ละเเบบ ซึ่งจะประกอบไปด้วย
ค้นพบตัวตน (Identity achievement):
พวกเขาจะผ่านกระบวนการค้นหาตัวตนมาสักระยะ ลองมาแล้วหลายอย่าง และตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกอะไร
ทดลอง (Moratorium) :
เป็นช่วงที่พวกเขากำลังทดลอง ค้นหาตัวเองอยู่จากการทำอะไรหลายๆอย่าง แต่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกอะไร
เลือกไปก่อน (Foreclosure) :
เป็นสภาวะที่จะเลือกไปก่อนแต่ยังไม่ผ่านกระบวนการค้นหาตัวเองใดๆ
สับสนในตนเอง (Identity diffusion) :
พวกเขาไม่ได้กระตือรือร้นที่จะหาตัวตนของตัวเอง
ผู้คนจะรู้ได้ว่าตนเองกำลังประสบกับปัญหาด้านการค้นหาตัวตนต่อเมื่อพวกเขาได้มีคำถามขึ้นมาในใจว่า ตัวเองคือใครกันแน่ คุณค่าของตัวเองคืออะไร จุดประสงค์ของชีวิตคืออะไร ฉันเชื่อในอะไร อะไรคือPassionของฉัน
นักวิจัยยังพบอีกว่า คนที่ตัดสินใจ “เลือก” ที่จะค้นหาตัวตนมีแนวโน้มที่จะมีความสุขมากกว่า
การเปิดรับมุมมองใหม่ๆของผู้คน ของโลก ค้นหาบทบาทตัวเองในสังคมว่าตัวเองมีประโยชน์ต่อสังคมด้านไหน รวมถึงบทบาทตัวเองในครอบครัว หรือบทบาทตัวเองในด้านความพันธ์ เราให้คุณค่ากันและกันมากเพียงพอรึยัง?
ถ้าเราหาคำตอบจากสิ่งใกล้ตัวเหล่านี้ได้เราก็มีโอกาสจะพบเจอว่าเราคือใครกันเเน่
เป็นเหมือนการฝึกให้เราเรียนรู้ที่จะหาความสุขได้ด้วยตนเอง ผ่านการเปลี่ยนและปรับมุมมองความคิดตัวเองต่อสิ่งรอบๆตัว
เพราะถ้าเรารู้วิธีที่จะเห็นคุณค่าในสิ่งอื่นๆเราก็จะรู้วิธีที่จะเห็นคุณค่าในตนเองเช่นกัน
Sources : www.thoughtco.com , www.verywellmind.com
ติดตามเพจ : www.facebook.com/WeTheVaporTH