มีทักษะมากมายในโลกที่เราได้ถูกพร่ำสอนทั้งในตำราเรียน คำบอกเล่า คำชี้แนะจากอาจารย์ หรือจากคนที่เราเคารพนับถือ ส่วนใหญ่มีจุดประสงค์เพื่อให้เราสามารถนำทักษะนั้นไปใช้ในการประกอบอาชีพ หรือนำไปใช้ดำรงชีวิต ให้เราได้อยู่ในสังคมอย่างปกติสุขร่วมกับคนอื่นๆ
แต่สิ่งที่เรามักจะมองข้ามบ่อยๆ คือ ทักษะในการมอง และเข้าใจในสิ่งที่มอง เพราะการที่เรารู้ที่จะมองจะทำให้เรามีชีวิตที่ดีได้ รอดชีวิตจากภัยคุกคามที่ไม่พึงประสงค์ได้ หรือแม้แต่ช่วยทำให้เราได้เห็นว่า…
ทำไมลูกของเราเลือกที่จะทำตัวแบบนั้น ทำไมเพื่อนเป็นคนแบบนี้ ทำไมผู้บริหารถึงเเสดงออกแบบนี้
ทำไมตัวเราถึงเป็นอยู่อย่างงี้?
ความฉลาดทางการมอง(ไม่)เห็น – Visual Intelligence
ศิลปะสามารถทำให้ Visual Intelligence พัฒนาขึ้น
มันช่วยคนให้หางานได้ สร้างงานใหม่ๆขึ้นมาได้ ช่วยหน่วยซีลในการกู้ชีวิตได้ ช่วยนักสืบไขคดีได้ ช่วยพยาบาลที่ประสบปัญหาด้านความเครียดได้
ทักษะที่แท้จริงของการมอง คือ การมองอย่างช้าๆ มองอย่างระมัดระวัง เพื่อเพิ่มความสามารถให้กับความทรงจำของเรา เราอาจเป็นคนที่มีความจำดีที่สุด แต่มันจะมีความหมายอะไรถ้าในความทรงจำนั้นไม่มีรายละเอียดที่เราสามารถนำไปต่อยอดได้เลย
เราสามารถเจออะไรที่สำคัญๆตลอดเวลาในชีวิต เพียงแค่เราลองใส่ใจกับมันเพิ่มสักหน่อย ลองถอยมาสักก้าว เพื่อมองสิ่งที่เราผ่านมันอยู่ทุกๆวันด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง และต้องการจะรู้ให้ได้ว่าอะไรกันแน่ที่เราได้พลาดไป
ศิลปะจะทำให้เราเห็นว่าเราควรอยู่ที่ไหน และมันจะค่อยๆเปิดเผยให้เราเห็นว่า อะไรที่เรากำลังมองอยู่
บางคนยังคงสงสัย คลางแคลงใจ เชื่อว่าศิลปะควรไปอยู่ที่ในพิพิธภัณฑ์ เชื่อว่ามันไม่มีแง่มุมใดที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้เลย หรืองานศิลปะเป็นเพียงของเล่นสำหรับคนรวยเท่านั้น
อาจจะเริ่มจากการมองงานศิลปะของ Kumi Yamashita และพยายามตั้งคำถามว่า…เราเห็นอะไร?
มันเป็นภาพวาดรึเปล่า? มันทำมาจากอะไรกันแน่?
แต่พอเราเข้าไปใกล้เรื่อยๆก็จะพบว่าภาพนี้ถูกเขียนด้วยด้าย ที่ยึดติดกับเข็มแล้วรอยกันต่อเนื่องโดยที่เส้นด้ายไม่ขาดเลย
แต่รู้แล้วได้อะไรล่ะ?
แท้จริงแล้วคำตอบมันคือ “ทุกๆอย่าง”
เราเดินสวนคนเดิมๆ ที่เดิมๆอยู่ทุกวัน บางทีเราควรจะถามตัวเองให้ดีกว่านี้ว่าอะไรที่เรามองเห็น
การตั้งคำถามแนวนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากในปัจจุบัน ที่ดูเหมือนทุกคนจะเร่งรีบไปหมด แต่ดูเหมือนว่า มีเพียงนักสังเกตเท่านั้นที่จะเห็น หรือหาคำตอบกับอะไรที่ดูซับซ้อนได้
เช่นนักฉายแสง MRI คนหนึ่งที่บอกกับ Amy Herman ผู้เขียนหนังสือ Visual Intelligence ว่าการที่เธอฝึกการมองโดยใช้ศิลปะช่วยทำให้เธอมองเห็นจุดที่ผิดปกติในเครื่องMRIได้ หรือเช่นตำรวจคนหนึ่งที่บอกว่า การที่เขาจับการเคลื่อนไหวบางอย่างของคนที่วาดรูป ทำให้เขามองเห็นพฤติกรรมบางอย่างของคนร้ายได้ดีขึ้น หรือการเรียนรู้ถึงสีที่หายไปในรูปภาพที่ลูกเป็นคนวาด ทำให้พ่อแม่เห็นรายละเอียดต่างๆในสิ่งที่พวกเขาพูดและสิ่งที่พวกเขาไม่ได้พูด
Amy Herman ลองให้แต่ละคนลองวิเคราะห์หาความหมายของรูปนี้ดูว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคำตอบจะต่างกัน มันแสดงให้เห็นว่าแต่ละคนมีมุมมองอย่างไรเมื่อมีสิ่งร้ายๆเกิดขึ้น

ผู้คนวิเคราะห์ไปต่างๆนานา แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในการทดสอบครั้งนั้นคือการที่ตำรวจคนหนึ่งบอกว่า “คุณเห็นผู้ชายใส่เสื้อสีชมพูตรงกลางไหม? นั่นแหละคนที่สร้างปัญหาทั้งหมด”

อย่างเช่นรูปนี้ ถ้าลองนำมาวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง ก็จะพบว่า นี่คือนาฬิกาที่ใช้ถ่าน ซึ่งมันจะมีนาฬิกาเรือนใดเรือนหนึ่งที่ถ่านหมดและตายไปก่อน อาจจะเหมือนชีวิตรัก ที่ทุกๆคู่จะต้องเผชิญ เป็นความรักที่สมบูรณ์แบบที่สุด ( Perfect Lovers )เหมือนชื่อของผลงาน
ดังนั้นศิลปะจะช่วยขยายมุมมองให้กว้างขึ้น เข้าใจภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงรายละเอียดเล็กๆที่อาจจะมองข้ามไป

ภาพนี้เราจะเห็นบางสิ่งที่หายไป คนหนึ่งอาจจะบอกว่า เขาเห็นว่ามีรถไฟออกมาจากเตาผิง และมีเชิงเทียนอยู่บนเตาผิง
แต่อีกคนบอกว่า เขาเห็นรถไฟที่ไม่มีราง เตาผิงที่ไม่มีไฟและเชิงเทียนที่ไม่มีเทียนไข
แท้จริงแล้วภาพนี้พยายามอธิบายในสิ่งที่เรากำลังคิด และมิติในการมองเห็นของเรา
วิธีการคิดนี้บอกใบ้อะไรหลายๆอย่าง ทั้งต่อสิ่งที่เราได้ยินและสิ่งที่เราไม่ได้ยิน ต่อสิ่งที่เราได้เห็นและสิ่งที่เราไม่ได้เห็น
ถ้าเราเติบโตขึ้นมาในครอบครัวของคนชั้นกลางธรรมดาๆค่อนข้างยากจน เราอาจจะเคยสัมผัสกับสิ่งนี้มาก่อน
ตอนเด็กๆพ่อแม่อาจจะซื้อของเล่นดีๆมาให้เพื่อทำให้เราตื่นเต้น พาเราไปกินอาหารอร่อยๆที่จะทำให้เรามีความสุข จ่ายค่าเรียนพิเศษแพงๆให้เราได้ไปเรียนเหมือนกับเพื่อนๆ
พวกเขาได้แต่บอกเราว่าไม่ต้องเป็นห่วงอะไร โดยเฉพาะเรื่องการเงิน แต่เมื่อเราเติบโตขึ้น กลายเป็นพ่อคนแม่คน เราจึงรู้ว่า..
แท้จริงแล้ว ถึงแม้เราจะไม่ค่อยมีเงิน เราก็จะแบ่งเงินไปให้ลูกของเราได้เสมอ เราอาจจะยอมอดอาหารในบางที เพื่อให้ลูกของเราได้กินอาหารที่ดี
เราอาจจะไม่เคยได้ยินเลยว่าพ่อแม่ของเราลำบากขนาดไหน เครียดให้กับเรื่องงานมากแค่ไหน โดนเจ้านายตำหนิมายังไง
มันไม่ได้หมายความว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เคยเกิดขึ้นกับพวกเขา แต่มันเป็นเพียงสิ่งที่พวกเขาไม่อยากให้เราต้องกังวลเท่านั้นเอง
Visual Intelligence ทำให้เราเห็นในสิ่งที่ “มองเห็น” และเห็นในสิ่งที่เรา “มองไม่เห็น” โดยไม่ละทิ้งกันเเละกัน
นี่คือผลงาน Jorge Méndez Blake – The Castle, 2007
ถ้าเรามองแบบผิวเผิน เราอาจจะมองว่านี่คือกำแพงอิฐธรรมดาๆ แต่ถ้ามองดูดีๆเราจะรู้สึกถึงความสัมพันธ์ของสมุดเล่มนั้น ว่ามันมีความสำคัญต่อระบบมากแค่ไหน
เราอาจมองว่าหนังสือนั้นเหมือนแนวคิดที่แตกต่างที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้
เราอาจจะมองว่ากำแพงอิฐนี้อ่อนแอแค่ไหนที่จะล้มลง
เราอาจจะเชื่อมโยงกับพลานุภาพของนวัตกรรมสมัยใหม่ที่สามารถทำให้ระบบเก่าล่มสลายไปได้อย่างง่ายดาย หรือช่วยให้ระบบที่ล้าสมัยนั้นยังคงไว้ซึ่งโครงสร้างเหมือนเดิมได้เช่นกัน
ทุกอย่างมันเริ่มต้นจากการรู้วิธีสังเกต เพื่อจะเปลี่ยนสิ่งที่เห็นหรือสิ่งที่ไม่เห็น ให้เป็นอะไรที่สามารถใช้ในชีวิตจริงได้ ไม่ว่าเราจะมีทักษะไหนมาก่อนในชีวิต
การฝึกการสังเกตด้วยศิลปะนี้ อาจทำให้เรามองเห็นในสิ่งที่ซ่อนอยู่ อาจทำให้เราได้ยินในสิ่งที่คนอื่นไม่ได้ยิน อาจทำให้เราได้สร้างสรรค์ในสิ่งที่คนอื่นนึกไม่ถึง
ไม่จำเป็นต้องสังเกตผ่านงานศิลปะเสมอไป เเต่มันเป็นอะไรก็ได้ที่เรามักใช้ชีวิตโดยการ “มองข้าม” มันเสมอ
ไม่ว่าปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่จะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน ด้วยคุณภาพของการสังเกตนี้ อาจจะช่วยทำให้เรามีโอกาสมากขึ้นในการมองเห็นหนทางในการแก้ปัญหา แม้ว่าจะดูเหมือนว่า…เราไร้ซึ่งหนทางก็ตาม
Source : www.ted.com