
แสงแดดทำให้คนรู้ว่าต้องตื่นตอนไหน หลับตอนไหน มันยังแบ่งเวลา ว่าช่วงไหนที่มนุษย์ควรจะออกล่า ช่วงไหนที่สัตว์ป่าจะสามารถออกหากินได้อย่างปลอดภัย
ถ้าใครสามารถช่วงชิงเวลาได้สำเร็จ คนนั้นก็จะมีโอกาสสูงที่จะกลายมาเป็นคนที่ควบคุมชีวิตของคนอื่น แล้วมันก็เป็นแบบนี้มากว่าพันปีแล้ว
ในช่วงปี ค.ศ. 1600 ผู้คนจะรู้เวลาได้ ก็ต้องเข้าไปที่ในเมืองเพื่อดูเวลาที่หอนาฬิกาหรือนาฬิกาประจำหมู่บ้าน ซึ่งกลไกของนาฬิกาจะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไอน้ำ หรือระบบเกรียวที่ซับซ้อน ด้วยความคลาดเคลื่อนของมันจำเป็นจะต้องมีคนที่คอยตั้งเวลาใหม่มากกว่า 2 ครั้งใน 1 วัน
บางครั้งเวลาก็เร็วกว่าปกติ บางครั้งก็ช้ากว่าปกติ แต่มันไม่ใช่ปัญหาอะไรเพราะผู้คนไม่ได้ใส่ใจเวลามากนักในสมัยนั้น มีแต่นักเดินเรือเท่านั้นที่ต้องการเวลาที่แม่นยำเกินกว่าอาชีพอื่นๆ โดยเฉพาะในยามที่พวกเขาเดินเรือข้ามฝั่งทะเล
นักเดินเรือจะมีนาฬิกาอยู่ 2 เรือน เรือนที่ 1 จะเป็นเวลาที่ถูกตั้งตอนที่พวกเขาได้ออกมาจากผืนแผ่นดินต้นทาง เรือนที่ 2 เป็นเวลาที่ตั้งจากพระอาทิตย์ในขณะที่อยู่บนเรือซึ่งจะต้องได้รับการอัปเดตทุกๆ 4 นาที และก็ไม่ค่อยเที่ยงตรงสักเท่าไรเเต่ก็รู้สึกอุ่นใจขึ้นมาได้เยอะ
ด้วยเวลาที่มีความคลาดเคลื่อนนี้ทำให้ผู้คนเริ่มตั้งคำถาม ว่าจะทำยังไงให้นาฬิกามีความเที่ยงตรงที่สุด?
เบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นอยู่?
ในปี ค.ศ. 1583 เด็กหนุ่มวัย 19 ที่ชื่อกาลิเลโอรู้สึกเบื่อหน่ายกับการสวดมนต์ที่โบสถ์ Duomo di Pisa เขาคิดว่าโคมไฟที่ถูกแขวนไว้ข้างบนที่แกว่งไปแกว่งมาดูน่าสนใจกว่าเสียอีก แต่ก็สงสัยว่าทำไมมันยังคงแกว่งไปมาอยู่อย่างนั้น? ทำไมจังหวะในการแกว่งถึงได้เท่ากัน? มีเเรงบางอย่างที่ทำให้มันแกว่งด้วยวงที่เเคบลงเรื่อยๆ? เราพอจะรักษาระดับความกว้างของการแกว่งนี้ได้ไหม?
[ ในปี ค.ศ. 1637 กาลิเลโอได้นำระบบเฟืองมาใช้สร้างนาฬิกาลูกตุ้ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในงานวิจัยของเขา ]
ในปี ค.ศ. 1656 โคมไฟที่แกว่งไปมาในวันนั้นถูกประยุกต์มาเป็นนาฬิกาลูกตุ้ม ที่ถูกคิดค้นโดย Christiaan Huygens ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากงานวิจัย “กฏ Pendulum” ของกาลิเลโอ
การแกว่งครั้งหนึ่งของลูกตุ้มจะถูกปรับให้เท่ากับหนึ่งวินาทีเสมอ แต่พอผ่านไป 1 วันมันจะลดลงราวๆ 10 นาที
พอมาถึงปี ค.ศ. 1670 ช่างทำนาฬิกา William Clemen พบว่าถ้าทำให้ลูกตุ้มยาวขึ้นกว่านี้มันจะทำงานได้ดีขึ้น และมันก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เเนวคิดของ William Clemen ทำให้นาฬิกาลูกตุ้มกลายเป็นระบบที่เที่ยงตรงที่สุดแห่งยุคสมัย
ผู้คนนิยมใช้นาฬิกาลูกตุ้มยาวๆนี้นานกว่า 100 ปีโดยรู้จักกันในนาม Grandfather clocks
ถ้าไม่มีนาฬิกาที่มีความเที่ยงตรงและเชื่อถือได้ การปฏิวัติอุตสาหกรรมก็คงไม่เกิดขึ้น การนัดหมายใดๆก็คงไม่เกิดขึ้น ตารางการทำงานคงไม่เกิดขึ้น หรือเเม้เเต่เวลาในการออกเดต ความเที่ยงตรงของเวลาทำให้ผู้หญิงตัดสินใจได้เร็วขึ้นว่าพวกเธอจะเลือกผู้ชายที่ตรงต่อเวลาหรือผู้ชายที่สายเกินนัดไป 1 ชม.
ความเที่ยงตรงของเวลาทำให้ความคิดของผู้คนเปลี่ยนไป มันเพิ่ม “ความใส่ใจ” และเพิ่ม “ความรับผิดชอบ” ให้กับการใช้ชีวิตมากขึ้น
[ นาฬิกา Grandfather clocks ที่มีลูกตุ้มที่ยาว ตามเเนวทางที่ William Clemen ได้ออกแบบไว้ ]
ก่อนหน้านาฬิกาลูกตุ้ม ผู้คนทำงานเพื่อผลลัพธ์ พวกเขาทำงานจนกว่าจะเสร็จไม่ว่าจะใช้เวลานานแค่ไหนก็ตาม พวกเขาจะได้เงินที่คำนวณมาจากจำนวนชิ้นงานที่พวกเขาผลิตออกมา ต่างจากปัจจุบันที่ผู้คนจะได้เงินจากค่าชั่วโมง
“เวลา” ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมเกิดเเนวคิดที่ว่าจะทำยังไงถึงจะผลิตได้ปริมาณมากๆโดยใช้เวลาที่น้อยลง และมีราคาถูกลงในการขนส่ง
เเนวคิดนี้ทำให้มีการตัดถนนมากขึ้น รวมถึงการมีเส้นทางรถไฟที่เเตกเเขน่งไปหลากหลายเส้นทางมากขึ้น
ไม่ว่าจะนาฬิกาจะเป็นแบบไหน…สิ่งที่ควบคุมเวลาคือดวงดาว
แต่ละเมืองจะใช้ดวงอาทิตย์เป็นหลักในการตั้งนาฬิกาทำให้เเต่ละเมืองมีเวลาที่ต่างกัน ผู้คนจึงสับสนว่าเมื่อเราออกจากเมืองนี้เป็นอีกเวลาหนึ่งเเต่พอไปถึงอีกเมืองหนึ่งกลับเป็นอีกเวลาหนึ่ง ผู้คนสับสนว่าตกลงเราใช้เวลากี่ชั่วโมงในการเดินทางกันเเน่?
การแบ่งเวลา Greenwich Mean Time (GMT) หรือระบบ Time Zones จึงเกิดขึ้น ให้เป็นเส้นมาตรฐานสากล ซึ่งจะมีค่าเริ่มต้นที่ถูกวัดจากตำแหน่งของหอดูดาวในเมืองกรีนิช ประเทศอังกฤษ
เมื่อผู้คนสับสนน้อยลงกับเวลาที่ต่างกันจากเมืองหนึ่งไปสู่เมืองหนึ่ง ประเทศหนึ่งไปสู่ประเทศนึ่ง ทวีปหนึ่งไปสู่ทวีปหนึ่ง การเดินทางโดยเครื่องบินจึงได้ถูกสร้างขึ้นมา และเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างเป็นระบบ

ยิ่งรู้…ยิ่งพบว่าไม่รู้?
ในช่วงปี ค.ศ. 1880 Pierre กับ Jacques Currie (สามีของมารี กูว์รี)นักฟิสิกส์สองพี่น้องสังเกตเห็นอะไรบางอย่างจากแร่ควอตซ์ ( quartz ) และในกระดูก พวกเขาพบว่าเมื่อมีเเรงกดทับระดับหนึ่งมันจะทำให้เกิดกระแสไฟขึ้น ซึ่งกระเเสไฟนั้นมีการวิ่งไปมาคงที่ ไม่ต่างจากโคมไฟที่กาลิเลโอเคยสังเกตเห็น
พวกเขาเรียกมันว่า “ปรากฏการณ์เปียโซอิเล็กตริก” ( piezoelectric effect ) ซึ่งต่อมามันถูกนำไปใช้สร้างนาฬิกาแบบควอตซ์ ไมโครโฟน เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท
พวกเขาพบว่าควอตซ์ สามารถสร้างความถี่ได้ต่อเนื่องใน 1 วินาที เเต่พอนับเวลาไปให้ครบ 1 เดือน เวลาจะคลาดเคลื่อนไปจากเดิม 15 นาที จึงต้องใช้วิธีบางอย่างเข้ามาช่วย
การหาวิธีการ “บางอย่าง” นั้นทำให้ผู้คนเข้าใจว่า “เทคโนโลยี” ทำงานยังไง
มันทำให้ผู้คนเข้าใจว่าธรรมชาติไม่เคยสมบูรณ์ตามใจที่มนุษย์ต้องการจะให้มันเป็น มนุษย์จำเป็นที่จะต้องแก้ไข ปรับปรุง เพิ่มเติม จนทำให้เกิดเป็น “วิทยาการ” ให้ได้
จนกระทั่ง Warren Marrison กับ J. W. Horton แก้ปัญหานี้สำเร็จในปี ค.ศ. 1927 ที่ห้องแล็บเบล ( Bell Telephone Laboratories ) และทำให้เกิดนาฬิกาควอตซ์เรือนแรกของโลก ซึ่ง SEIKO ได้นำเทคโนโลยีนี้ออกสู่ตลาดในเวลาต่อมา
มันยังได้สร้างแรงบันดาลจนทำให้เกิดคอมพิวเตอร์เครื่องเเรกของโลกในปี ค.ศ. 1936 ที่คิดค้นโดยแอลัน ทัวริง รวมทั้งทำให้เกิดวิธีการรบใหม่ๆขึ้นมาด้วย เช่น การตั้งเวลาที่เเน่นอนในการระเบิด

ในปี ค.ศ. 1950 นาฬิกาอะตอมได้ถูกคิดค้นขึ้นมา ซึ่งจะดึงกระแสไฟมาจากธาตุ Cesium-133 และได้กลายมาเป็นนาฬิกาที่มีความแม่นยำที่สุดในโลก
มันถูกใช้เป็นเวลามาตรฐานในการประชุมระดับนานาชาติ และถือว่าเป็นสิ่งเดียวในโลกที่ทุกคนจากทั่วโลกเห็นตรงกัน เหมาะสมอย่างยิ่งในยุคที่ความเห็นต่างทางการเมืองสามารถทำให้เกิดสงครามได้ในตอนนั้น
ความเที่ยงตรงของเวลาทำให้มนุษย์ได้รู้ว่า แท้จริงแล้วโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์โดยใช้เวลาไม่เท่ากันแต่ละปี บางปีใช้เวลา 365.24219 วัน บางปี 365 วัน บางปี 366 วัน และหมุนรอบตัวเองช้าลงเรื่อยๆทุกปี
เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น จึงได้วางมาตรฐานให้เดือนกุมภาพันธ์ มี 29 วัน( leap yaer) ทุกๆ 4 ปี ซึ่งมีหลักฐานพบว่าผู้คนต่างวัฒนธรรมทั่วโลกรู้ถึงปรากฏการณ์นี้มานานแล้วหลายพันปีจากการสังเกตของดาวซิริอุส
หลงทาง
นาฬิกาอะตอมนี้ทำให้เกิดระบบ GPS ขึ้น ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาในปี ค.ศ. 1957
GPS จะทำงานโดยการส่งสัญญาณไปที่ดาวเทียมที่มีอยู่หลายๆตัวรอบโลก GPS จะหาว่าดาวเทียมดวงไหนอยู่ใกล้ที่สุดเเล้วให้มันส่งสัญญาณกลับมาเพื่อบอกตำเเหน่งที่เราอยู่ปัจจุบันด้วยความเเม่นยำสูงเพราะมันใช้นาฬิกาอะตอมเป็นตัวควบคุมระบบ
แปลกตรงที่มันคล้ายๆกับวิธีที่นักโหราศาสตร์ใช้หาว่าเราควรจะทำอะไรในปัจจุบันจากการคำนวณองศาที่เปลี่ยนไปของดวงดาว
วิวัฒนาการของเวลาทำให้เราได้รู้ว่า เราอยู่ส่วนไหนบนโลกไม่ว่าเราจะหลงทางไปที่ไหน แต่มันไม่ได้บอกว่าเราควรจะไปอยู่ที่ไหนบนโลก?
ธรรมชาติไม่เคยสมบูรณ์แบบ แต่ความไม่สมบูรณ์ของธรรมชาตินี้ทำให้เราเกิดความรู้มากมาย
มันเปิดโอกาสให้เราได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ รู้จักตั้งคำถาม ทำให้เรารู้ว่าเราจะต้องแก้ไข ปรับปรุง เพิ่มเติมอะไร
มันเปิดโอกาสให้เราได้สร้าง “วิทยาการ” ใหม่ๆขึ้นมา เพื่อทำให้เราได้ใช้ชีวิตในเเบบที่ “คาดเดาได้” ที่สุดเท่าที่จะทำได้
มันอาจจะเริ่มจากความเบื่อหน่ายในสิ่งที่เป็นอยู่ เหมือนความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับกาลิเลโอตอนที่เขาอยู่ในโบสถ์ Duomo di Pisa
ซึ่งมันจะต่างจากความเบื่อหน่ายทั่วๆไป ตรงที่เขาได้ตัดสินใจลงมือทำอะไรสักอย่างจากความเบื่อหน่ายนั้น
Sources: wikipedia.org – Clock, interestingengineering.com – The Very Long and Fascinating History of Clocks, theconversation.com-A brief history of telling time