ภาพยนตร์ 50 เรื่องที่ดีที่สุดแห่งทศวรรษ – The Vapor

ความคิดของเราเวียนวนไป ๆ มาว่าเราควรจะจัดอันดับด้วยหลักการเเบบไหนดี เป็นหนังที่เราชื่นชอบด้วยหัวใจ ด้วยอารมณ์ล้วน ๆ หรือเป็นหนังที่มีคุณภาพสูงในแบบที่สมองสั่งการให้เราต้องชื่นชม ยกย่อง เพื่อให้ผู้อ่านมองว่าเราเป็นนักดูหนังที่มีรสนิยม

เราจึงใช้เกณฑ์ง่าย ๆ ที่ว่า…ถ้าหนังเรื่องไหนทำให้เรารู้สึกว่า “ดีใจจังที่ได้ดู” และมีเนื้อหาบางส่วนยังคงทำปฏิกิริยาบางอย่างทางความคิดของเราอยู่จนถึงปัจจุบัน หนังเรื่องนั้นจะได้คะเเนนพิเศษไป เพียงพอให้ติดอันดับเข้ามาใน Top 50 นี้ได้  ส่วนหนังเรื่องไหนที่เราได้ดูเเล้วรู้สึกว่า “ไม่ดูก็ได้นี่หว่า” เราจะทำการคัดหนังเรื่องนั้นออกไปแล้วตัดสินใจมูฟออน

แต่เราก็เสียดายสุด ๆ ที่ไม่สามารถนำหนังดี ๆ บางเรื่องติดเข้ามาในนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็น  Whiplash , Arrival ,  We Need to Talk About Kevin  , La La Land , Dunkirk , Warrior , Mother! , The One I Love ,  Right now wrong then , Sing Street ,  Before Midnight , Your name ,  Hunt for the Wilder people , Argo , Happy old year , Toy Story 3 , Like Father like son , Gravity , Anihilation  , Captain America: Civil War , The Grand Budapest Hotel , Biutiful , Amour , Lady Bird

และนี่คือภาพยนตร์ 50 เรื่องที่ดีที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา…

50. Us and them ( 2018 )

“ ความฝันของฉันหรือฝันของเรา ”

ในปี 1996 โลกได้ซาบซึ้งไปกับ เถียนมีมี่  ของ Peter  Chan ในยุคนี้ผู้คนรู้จัก Us and Them ที่มาแนวทางเดียวกันเป๊ะแต่ปรับให้เข้ายุคเข้าสมัย และเพิ่มความดราม่าเข้าไปอีกระดับหนึ่งเพื่อทำให้เราเสียฟอร์มในการรับชมเพราะเผลอตัวเสียน้ำตาออกมา แต่ที่น่าเสียดาย คือ หนังได้ลดทอนสัญญะทางการเมืองไปเยอะเมื่อเทียบกับเทียนมีมี่ที่มีความเป็นฮ่องกงมากกว่า ทิ่มแทงความรู้สึกเราได้เยอะกว่า

มีการอิงเรื่องราวของยุคสมัยเหมือน ๆ กัน เล่นเรื่องความสัมพันธ์ในแนวทางใกล้เคียงกัน เต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวมากมายในอดีตให้ชวนนึกถึงทั้งสุข เศร้า เหงา รัก ถ้าใครต้องการดูหนังรักที่มีความครบเครื่องเรื่องอารมณ์ Us and Them คือหนังที่ห้ามพลาด ( อย่าลืมดูช่วงเครดิตด้วยล่ะ )

49. Split ( 2016 )

“ วิวัฒนาการของคนที่หัวใจเเตกสลาย ”

สิ่งที่เราชอบที่สุดในหนังของ M. Night Shyamalan  คือ บทของเขาจะไม่เหมือนหนังของใคร ต่อให้เป็นหนังที่แย่ในบางทีมันก็ยังคงเป็นหนังที่มีความออริจินัลอยู่ดี เช่นเดียวกับเรื่องนี้  เราเชื่อว่า  Split น่าจะเป็นหนังที่ผู้ชมจะพูดถึงและให้การยอมรับมากกว่านี้ ถ้าผู้คนไม่เคยเห็นงานเก่า ๆ ของเขามาก่อน เช่น Unbreakable , Signs หรือแม้แต่ใน The Village , The Vist หนัง Hybrid ที่ไม่ค่อยมีใครกล้าทำเท่าไร เพราะยากต่อการทำการตลาด

48. Gone Girl ( 2014 )

“ สื่อบังคับให้เราเป็นอีกคนที่เราไม่รู้จัก ”

เรื่องราวความสัมพันธ์ป่วย ๆ ของครอบครัวสมัยใหม่ ที่แต่ละคนมีความคิดเป็นของตนเองที่เเข็งเเรงพอที่จะไม่สนใจความคิดอื่น ๆ  สิ่งที่เราชอบที่สุดคือวิธีที่แต่ละฝ่ายพยายามจะเอาชนะกัน ที่ไม่ใช่การตบตีหนักหน่วงแต่มันคือการพยายามเอาชนะด้วยการทำให้อีกฝ่ายเป็นบ้า ทนไม่ได้ แล้วยอมแพ้ไปเอง ซึ่งดูเหมือนไม่มีใครลดละความพยายามเลยและมันก็เลยเถิดจนยากจะควบคุม จังหวะของหนังทำให้เราลุ้นมาก ๆ ในแต่ละฉาก ส่วนงานดนตรีประกอบของ Trent Reznor และ Atticus Ross ก็ดูทันสมัย เข้ากับเรื่องนี้เป็นที่สุด

 

47. Rango ( 2011 )

“ อยู่เป็น? ”

สิ่งที่เราชอบที่สุดในหนังเรื่องนี้คือหนังสามารถดึงเสน่ห์ออกมาจากตัวละครอัปลักษณ์ได้อย่างน่าสนใจสุด ๆ มันทำให้เรามองเห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องหลงรักตัวละครที่ดูเท่ หรือน่ารักเสมอไปตราบใดที่หนังยืนยันที่จะดึงเสน่ห์ออกมาจากตัวละครนั้นให้ได้ ซึ่ง Rango ก็ทำออกมาได้อย่างมีชั้นเชิง ดูสนุก มีอารมณ์ขันเฉพาะตัว เป็นหนังแนว   “ค้นหาตัวตน” ที่ไม่ควรพลาดเรื่องหนึ่ง

46. Raw ( 2016 )

“ ดิบ เดือด เลือดพล่าน ”

เมื่อคิดถึงหนังเรื่องนี้ทีไรเราจะรู้สึกสยองขึ้นมาทันที ภาพบางภาพมันยังคงติดตาเราอยู่  ด้วยงานภาพที่จัดจ้านมีสไตล์  ด้วยอารมณ์ที่พลุ่งพล่านของตัวละครที่ไม่หยุดนิ่งเหมือนรอเวลาที่จะปะทุตัวของอะไรบางอย่างที่เลวร้ายออกมา  ด้วยบรรยากาศที่ลึกลับอึดอัดชวนสงสัยที่ทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา เราชอบที่หนังไม่ยอมเผยว่ามันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรจนเราค่อย ๆ เข้าใจขึ้นเรื่อย ๆ  เป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่มาก ๆ ในการดูหนังสยองขวัญแนวนี้

45. A Cure for Wellness ( 2016 )

“ วัคซีนคือเชื้อโรคแบบหนี่ง ”

ผลงานที่ Gore Verbinski กำกับมักจะเป็นงานที่ดูเสี่ยงอยู่เสมอ ว่ามันจะขายได้หรือขายไม่ได้ คนดูจะเข้าใจหรือมึนงง มันจึงเป็นเหตุผลที่พอเข้าใจได้ ว่าทำไมนักวิจารณ์ถึงเสียงแตกออกเป็นสองขั้ว ไม่ชอบก็เกลียดหนังของเขาไปเลย เรื่องนี้ก็เช่นกัน แต่เราอยู่ในฝั่งที่ชอบหนังเรื่องนี้มากกว่า เพราะยิ่งขุดหนังเรื่องนี้ให้ลึกลงไปในความคิดเท่าไหร่ก็ยิ่งพบอะไรมากขึ้นเรื่อย ๆ

หนังมีองค์ประกอบที่ซับซ้อนที่ยากจะเห็นรายละเอียดทั้งหมดเพียงครั้งเดียว มันเป็นความรู้สึกเหมือนการได้ดู Blade runner ในปี 1982  หรืองานของ Stanley Kubrick หลาย ๆ เรื่องที่ผู้คนไม่ค่อยเข้าใจนักในช่วงแรกซึ่งต่อมาผู้คนจึงเริ่มเห็นบางสิ่งที่สำคัญของหนังและนำมาวิเคราะห์ แตกรายละเอียดเป็นชั้น ๆ เชื่อว่าผู้คนจะกลับมาพูดถึงหนังเรื่องนี้อีกครั้งในอนาคต

44. Shoplifters ( 2018 )

“ ของใคร…ใครก็รัก ”

หนังเรื่องนี่ได้มอบความรู้สึกหลากหลายอารมณ์มากให้แก่เรา มันทำให้เราซาบซึ้ง เศร้า อบอุ่น เย็นชาจนไปถึงด้านชา หนังมันทำให้เราคาดหวังว่ามันจะจบอีกแบบ แบบที่ทุกคนมีความสุข แต่มันก็พรากความรู้สึกเหล่านั้นไปเพราะหนังเลือกที่ยึดโยงกับโลกแห่งความจริงมากกว่าจนเราต้องน้อมรับกับมันในท้ายที่สุด

43. The Lobster ( 2015 )

“ จังหวะหัวเราะที่เปลี่ยนไป ”

หนังของ Yorgos  เหมือนรถไฟในสวนสนุกที่เราจะนั่งปล่อยสมองให้โล่ง แล้วพร้อมจะล่องลอยไปในโลกที่เขาต้องการนำเสนอ ในเรื่องนี้เขาพาเราไปรู้จักความรักในโลกที่ไร้ความรู้สึก สุดแสนมืดมน ทุกคนมีตรรกะเป็นของตัวเองและเราก็สนุกไปกับการพยายามเขาใจวิธีคิดของคนเหล่านั้น ซึ่งมันก็แปลกซะเหลือเกินจนเราต้องขำออกมาหลาย ๆ ฉาก แต่พอบทจะใช้ความรุนแรงขึ้นมาก็โหดจนสะเทือนอารมณ์ เป็นหนังรักแปลก ๆ ที่ไม่เหมือนกับเรื่องไหนแน่ ๆ

42. Blade Runner 2049 ( 2017 )

“ มนุษย์จำเป็นต้องมีความทรงจำไหม ”

นี่อาจจะเป็นต้นแบบของหนัง Sci-fi ยุคใหม่ที่เราอาจจะได้เห็นบ่อยขึ้นในอนาคตที่ไม่กลัวจะพูดถึงประเด็นยาก ๆ แนวปรัชญา ๆ คล้าย ๆ กับที่เกิดขึ้นใน Ad Astra หรือในหนังแบบ Solaris ( 1972 ) หนังอีกเรื่องที่เราชื่นชอบที่พูดถึงปมเล็ก ๆ ในใจภายใต้ฉากหลังที่ยิ่งใหญ่ ฮอลลีวูดจัด ๆ เหมือนที่ Blade Runner  ชัดเจนมาก ๆ ตั้งแต่ภาคก่อน แต่ในเวอร์ชันนี้หนังได้มีการตั้งคำถามลึกเข้าไปอีกในเรื่องของตัวตน เราจำเป็นต้องมีความรู้สึกไหม?  เราจำเป็นต้องมีความทรงจำไหม? ทุกอย่างใส่เข้ามาอย่างถูกจังหวะผสมกับฉากแอคชั่นที่ใส่เข้ามาอย่างลงตัว ดูงดงาม ดูแพง ไม่เยอะเกินไป ดูเป็นงานที่ประณีตเป็นที่สุด เหมาะกับการไปดูที่โรงหนังจริง ๆ  เพื่อให้เห็นรายละเอียดยิบย่อยต่าง ๆ

41. Ida ( 2013 )

“ เมื่อตัวตนที่แท้จริง…ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในโลกที่คนอื่นเป็นคนสร้าง ”

ต้องยอมรับว่าเราแทบไม่สนใจเนื้อเรื่องเลยตอนที่ได้ดูครั้งแรก เอาแต่ชื่นชมไปกับการจัดวางแปลก ๆ ของภาพที่มีเอกลักษณ์มาก ๆ  จนเราเคลิ้ม  แต่นอกจากภาพเท่ ๆ แล้ว มันคืองานที่อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาเปรียบเปรย เสียดสี ดราม่าหนัก ๆ  เเนว Feminist ที่ซ่อนเรื่องราวหลากหลายเอาไว้ได้อย่างแนบเนียน ทั้งเรื่องราวความรักขม ๆ , การทรยศหักหลัก , ความรู้สึกผิดบาป , แนวคิดที่ขัดแย้งกันเองของศาสนา การเมือง เป็นเหตุให้ตัวละครต้องดิ้นรน พยายามที่จะหาจุดที่ลงตัวในชีวิตของเธอเองให้ได้ เป็นหนังที่เมื่อได้กลับไปดูอีกครั้งก็มักจะพบสิ่งใหม่ ๆ ที่น่าสนใจอยู่เสมอ

40. The Guilty ( 2018 )

“ ความแน่ใจคือความไม่แน่นอน ”

หนังที่เล่นกับพื้นที่จำกัดเรื่องนี้ ใช้พื้นที่ทางด้านอารมณ์ได้คุ้มค่าสุด ๆ  มันเข้าเรื่องได้เร็ว เเละค่อย ๆ ไต่ระดับความเครียดยิ่งขึ้นอย่างถูกจังหวะ ด้วยพล็อตเรื่องที่เข้มข้นการแสดงที่ยอดเยี่ยมแต่ก็ยังหาพื้นที่ในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างเฉียบคม โดยเฉพาะในเรื่องมาตรฐานของศีลธรรม ที่บางครั้งเราคิดว่าเราถูกที่สุด แต่ดูเหมือนความมั่นใจนั้นจะเป็นอันตรายต่อผู้อื่นเสมอในท้ายที่สุด

39. X-Men: Days of Future Past ( 2014 )

“ Back to the future + Avengers + Inception ”

หนังเรื่องนี่มีส่วนผสมที่หนังที่ดัดแปลงที่มาจากการ์ตูนสายบันเทิงพึงมี จังหวะที่ไม่เร็วไม่ช้าไปแต่เน้นความไหลลื่นทางด้านอารมณ์ , มีฉากลุ้นระทึกดูสนุกตั้งแต่ต้นจนจบ , เข้าเรื่องได้เร็ว ,ใช้เวลาแนะนำละครได้อย่างรวดเร็วและฉลาด , มีฉากที่น่าจดจำ , มีเนื้อเรื่องที่ไม่ง่ายเกินไปพอให้คนดูได้ใช้ความคิดได้บ้าง และการมีตัวละครที่ต้องตัดสินอะไรบางอย่างที่สำคัญอยู่ตลอดเวลา

38. The Survivalist ( 2015 )

“ ต้องรอด หรือ ต้องมีชีวิต? ”

หนังที่เรารู้สึกว่าน่าเชื่อถือที่สุดในตระกูลหนังวันสิ้นโลก มันดูเรียล ดูดิบเถื่อน อาจจะเกินไปเสียหน่อยจนยากที่จะดูในบางฉาก ( 18+ ) หนังให้อารมณ์กับเราเหมือนกับหนังสงครามที่ตัวละครมีความหวาดระแวงต่อทุก ๆ สิ่งในขั้นสูงสุด ที่ถ้าไม่เถื่อนจริงก็อยู่ไม่ได้ เราชอบตรงที่หนังสามารถหาพื้นที่ให้ตัวละครได้โชว์ความอ่อนไหวออกมาอย่างมีจังหวะ และเล่นกับความเงียบ ความกลัวได้อย่างน่าสนใจ

37. Her ( 2013 )

“ เรารักเขา หรือเรารักตัวเองมากกว่าเดิม ”

เป็นหนังที่ถูกสร้างมาให้คนตกหลุมรักอย่างเเท้จริง เเต่พอจะเหวี่ยง จะถลําลึกมันก็ทำให้เรารู้สึกกังวลจริง ๆ กับตัวละคร ซึ่งในทางนึงมันก็ทำให้เราเปิดใจที่จะยอมรับวิธีการคิดของตัวละครแบบนี้มากขึ้น  อีกส่วนที่สำคัญที่สุดของหนังคือบรรยากาศที่ถูกออกแบบมาได้สมจริงมาก ๆ และดูเหงาสุด ๆ , เพลงประกอบของ Arcade Fire อันเคลิบเคลิ้มก็เข้ากันกับหนังได้ดี รวมถึงงานภาพชวนฝันของ Hoyte Van Hoytema ก็ทำออกมาได้น่าจดจำจริง ๆ

36. The Revenant ( 2015 )

“ มีหนักกว่านี้ไหม? ”

สิ่งที่เราทั้งชอบและเกลียดในหนังของ Inarritu  คืองานกำกับที่มีความทะเยอทะยานสูงเกินกว่ามนุษย์ทั่วไป(โดยไม่จำเป็นในบางที)ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยมีผู้กำกับคนไหนอยากทำอะไรแบบนี้แล้ว แต่ด้วยการที่เขายึดแนวทางนี้อย่างแน่วแน่ทำให้หนังที่มีความดิบ ๆ เถื่อน ๆ แมน ๆ เรื่องนี้ ให้ความรู้สึกร่วมจริง ๆ เรารู้สึกเอาใจช่วยอยู่ตลอดว่าตัวละครจะต้องเจออะไรหนักหนากว่านี้ไหมในฉากต่อไป

35. The Master ( 2012 )

“ เมื่อหัวใจที่อ่อนแอถูกชักจูงให้เชื่อ ”

The Master เป็นหนังที่ดูไม่ง่าย เพราะมันเต็มไปด้วยฉากที่ชวนอึดอัด หนังที่มีความบันเทิงเฉพาะตัวเรื่องนี้เปิดโอกาสให้เราได้เข้าไปสำรวจชีวิตของคนคนนึง ที่ใช้ชีวิตโดยไร้จุดหมายเเน่ชัด  หนังพยายามให้เราทำความเข้าใจกับคนเหล่านี้ โดยการให้เราติดตามชีวิตเขาไปเรื่อย ๆ อย่างใจเย็น จนถึงในตอนที่เขาเบิกเนตร พบกับความจริงที่ยากจะยอมรับ

บทของมันไม่ชัดเจนว่าจะไปทางไหน เเต่ด้วยการเเสดงที่สุดยอดเเละบรรยากาศที่เราไม่คุ้นชินเเต่ดูน่าสนใจแปลก ๆ ทำให้เราอยากจะติดตามชีวิตของพวกเขาไปจนจบ เป็นความรู้สึกเดียวกับที่ได้ดู There Will Be Blood หนังของ Paul Thomas Anderson  ที่เรามองว่าเป็นอีกชิ้นงานที่คลาสสิก ที่มีวิธีการนำเสนอคล้าย ๆ กัน คือเปิดโอกาสให้เราสังเกต และวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ไปเลยโดยที่ไม่จำเป็นต้องหลงรักตัวละครแต่อย่างใด

34. Moonrise Kingdom ( 2012 )

“ เราเป็นนกแบบไหน ”

สิ่งที่เราชอบที่สุดในหนัง Wes Anderson ทุก ๆ เรื่อง นอกจากสไตล์ที่มีเอกลักษณ์ในงานด้านภาพและตัวละครเพี้ยน ๆ ที่มากเสน่ห์แล้ว มันคือความรู้สึกของการได้ออกไปผจญภัยในโลกกว้างจริง ๆ หนังของเขาทำให้เรากลับไปเป็นเด็กไม่กลัวอะไรทั้งสิ้นและมองว่าทุกสิ่งล้วนเป็นไปได้ สิ่งที่เราชื่นชอบในตัว Moonrise Kingdom มากกว่า The Grand Budapest Hotel นิดหน่อยตรงพล็อตเรื่องที่สดใหม่ยิ่งกว่า เพราะเราไม่เคยคิดว่าหนังเกี่ยวกับลูกเสือจะทำออกมาได้น่าสนใจถึงเพียงนี้  แต่ทั้ง 2 เรื่องก็ถือว่าเป็นหนังที่บันเทิงในระดับเดียวกัน สามารถดูได้หลาย ๆ รอบ

33. Never Let Me Go ( 2010 )

“ จุดประสงค์ในชีวิตที่เราต้องสร้างเอง ”

หนึ่งในหนังที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมที่ดีที่สุด มันทั้งหดหู่แต่ก็งดงามในขณะเดียวกัน  Never Let Me Go เป็นผลงานโรแมนติก Sci-fi ที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรื่องราวนี้มันควรจะเกิดในยุคไหน มันเป็นบรรยากาศอันสมจริงในภาพจินตนาการล้วน ๆ ที่สุดแสนจะงดงาม  เป็นดังความฝันที่ดูเสมือนจริง เป็นความฝันที่พยายามสื่อสารสิ่งที่สำคัญแก่เรา ให้เราเรียนรู้และยอมรับกับข้อเท็จจริงบางอย่างของชีวิตถึงแม้ว่ามันจะเป็นเรื่องที่แสนเจ็บปวดเหลือเกิน

 

32. The Witch ( 2015 )

“ เราอาจจะเป็นต้นเหตุเสียเอง? ”

หลังจากหนังเรื่องนี้ได้ออกฉาย แนวทางของหนัง Horror เรื่องอื่น  ๆ ก็ดูเหมือนจะเปลี่ยนไป กลายเป็นหนังแนวสยองขวัญเเบบ The witch แทน ที่ค่อย ๆ บีบ ค่อย ๆ นวดคนดูไปเรื่อย ๆ ด้วยเสียง ด้วยบรรยากาศหลอน ๆ  ด้วยการแสดงนิ่ง ๆ อึ้งสลับกับอาการคลุ้มคลั่งที่เดาทางไม่ถูก ด้วยงานด้านภาพ ด้วยคอนเซ็ปต์ง่าย ๆ ด้วยการใช้องค์ประกอบในฉากที่น้อยนิดแต่เน้นการแสดง  ด้วยจังหวะที่น่าสนใจเพื่อควบคุมความรู้สึกคนดู

31. Embrace of Serpent ( 2015 )

“ ความอยากรู้อยากเห็น…เป็นสิ่งเสพติด ”

เมื่อดูหนังเรื่องนี้ไปสักพัก เรารู้สึกเหมือนว่าตนเองกำลังโดนมอมยาอยู่ เราแยกไม่ออกว่าตกลงมันเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งกันแน่ แต่เราก็อยากเดินทางไปกับพวกเขาต่อเพื่อตามหาดอกไม้วิเศษที่พวกเขาต้องการแม้ว่าจะเสี่ยงอันตรายแค่ไหน รู้สึกว่าตัวเองได้ถลำลึกไปมากแล้วเกินกว่าจะถอยหนี เป็นประสบการณ์เดินทางอันลึกลับที่ยากจะลืมเลือนจริง ๆ

30. Tangerine ( 2015 )

“ เปรี้ยวจี๊ด แรด ๆ อย่างมีชั้นเชิง ”

หนังที่เกี่ยวกับ LGBT มักพยายามปั้นแต่งให้ชีวิตของพวกเธอ ไม่ดราม่าสุดขีด ก็บันเทิงเกินพิกัด แต่มีน้อยมาก ๆ ที่แสดงให้เราเห็นว่าพวกเธอก็คือคนหาเช้ากินค่ำทั่ว ๆ ไป ซึ่ง Tangerine ทำออกมาได้พอดีเหลือเกินในประเด็นหนักแบบนี้ มันทั้งเรียล ตลกบ้าบอ ดิบ ๆ แบบหนังอินดี้ ดราม่าคาว ๆ เรื่องเพศเป็นระยะ ๆ  ทั้งหมดถูกจัดวางด้วยจังหวะที่ลงตัวและดูสนุก มีการเร้าอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่ตลอดทั้งเรื่อง เเต่ก็ไม่ละเลยที่จะพูดถึงปัญหาสังคมบางอย่างที่ถูกสอดเเทรกเข้ามาได้อย่างเเนบเนียนเเละดูไม่ยัดเยียด

29. Yourself and yours ( 2016 )

“ บางที ความรักคือการไม่รู้ในทุกสิ่ง ”

เราอาจเคยได้ยินบางคนบอกว่า การมีความรักก็เหมือนการเมามายขาดสติ มันทำให้เราอ่อนแอแต่เราก็หยุดไม่ได้และไม่อยากที่จะหยุด หนังเรื่องนี้น่าจะเป็นแบบนั้น มันจะพาเราไปเมา ลืมตรรกะใด ๆ บนโลกแห่งความจริง เราสามารถตีความได้หลากหลายมาก ๆ ในหนังเรื่องนี้ต่างจากหนังรักเกาหลีทั่วไป และมันก็ถูกเล่าด้วยวิธีที่น่าสนใจ ง่ายแสนง่าย ดูเพลิน แต่ก็ลึกล้ำในขณะเดียวกัน เป็นหนังที่เข้าใจหัวอกผู้ชายได้เป็นอย่างดี เหมือนหนังทุกๆเรื่องของฮองซางซู

28. Luce ( 2019 )

“ ความปลอดภัยกับเรื่องส่วนตัว…สำคัญพอ ๆ กัน ”

หนังเรื่องนี้คือการนำคน 5 – 6 คนที่มีความเชื่อทางการเมือง ทางสังคมที่ต่างกัน มาปะทะกันทางความคิดไปมาทั้งเรื่อง แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องรักษาท่าที รักษาคำพูดคำจาให้ดูคูล ๆ นิ่งเอาไว้เพื่อให้พวกเขาได้คุยกันรู้เรื่อง บางคนก็ทำได้ บางคนก็ทำได้เเค่แป๊บเดียว บางคนสนุกไปกับการเล่นเกมส์ปั่นหัวผู้คนด้วยทักษะการพูดแบบนักดีเบต และมันก็กดดันเราไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง

การไม่สรุปว่าใครผิดใครถูกในหนังเปิดโอกาสให้หนังได้ทำงานในความคิดของผู้ชมเต็มที่ เรียกได้ว่าเชื่อใจคนดูสุด ๆ ถึงแม้ว่าตัวละครเเต่ละตัวจะซับซ้อนหลาย ๆ มิติมาก ๆ ก็ตาม หนังเหมาะกับสังคมยุคนี้มาก ๆ ที่การเมืองได้เข้าไปแทรกซึมในวิถีชีวิตประจำวันของเราจนเราสัมผัสได้

27. Short Term 12 ( 2013 )

“ อบอุ่นเมื่อได้เจอคนที่เข้าใจและเปิดใจ ”

หนังเรืองนี้พูดถึงโศกนาฏกรรมทางความรู้สึกที่เกิดจากคนที่ควรจะรักเรามากที่สุด เราจะไปเยียวยาบาดแผลเหล่านั้นกับผู้คนในเรื่อง นอกจากนั้นพวกเขายังทำให้เรามองเห็นคุณค่าของการเคารพผู้อื่น , ทำให้เรารู้จักอดทนอดกลั้นต่อเรื่องแย่ ๆ ในชีวิตที่มนุษย์พึงกระทำได้  การได้ดูหนังเรื่องนี้เหมือนการได้ไปเจอกับกลุ่มเพื่อนที่เราสนิทด้วยจริง ๆหรือเพื่อนร่วมงานที่คุยกันถูกคอ ไม่ต้องมีความพยายามใด ๆ ที่จะต้องสื่อสารกันทั้งสิ้น ทุกอย่างล้วนออกมาเป็นธรรมชาติ สบาย ๆ มีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นช่วง ๆ แต่ก็จบด้วยความเข้าใจกัน

26. Son of Saul ( 2015 )

“ ความหวังเล็ก ๆ ที่หล่อเลี้ยงชีวิต ”

สำหรับหนังที่เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวที่มีหลายเรื่องมาก ๆ เรื่องนี้น่าจะดูสมจริงที่สุด มันอาจเพราะด้วยวิธีการนำเสนอ ที่ทำให้เรารู้สึกจริง ๆ ซึ่งมันดูแปลกตาและน่าทึ่งมาก ๆ มันเป็นวิธีลดภาพความรุนแรงออกจากหนังได้อย่างมีชั้นเชิงที่สุด คล้าย ๆ กับคนที่พยายามหลบสายตาเมื่อได้เห็นภาพที่รุนแรง

25. A Separation ( 2011 )

“ ฉันถูก…เธอผิด ”

นี่คือ Marriage Story ในเวอร์ชันที่เข้มข้น ดุเดือด เเละดูไม่อบอุ่นเอาเสียเลย เป็นแบบที่ “เออ..พวกเธอช่วยใจเย็น ๆ กันได้ไหม เราขอร้อง”  มันเต็มไปด้วยฉากฟาดฟันกันไปมาทางความคิด ฉันถูกเธอผิด อยู่อย่างนี้ตลอดทั้งเรื่องราวกับหนังสงคราม  ซึ่งมันสนุกตรงที่เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าใครควรจะถูกลงโทษ ทุก ๆ คนล้วนมีเหตุผลเป็นของตัวเอง หนังมันเจ๋งตรงที่เรื่องที่เกิดขึ้นดูเหมือนว่าเป็นเรื่องภายครอบครัวเท่านั้น เเต่พอดูดี ๆ แล้ว มันเป็นปัญหาทั้งระบบเลยนี่หว่า!!! ซึ่งเราจะเห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านการทะเลาะกันของพวกเขานี่แหละ ไม่ว่าจะเป็นปัญญาทางการเมือง ทางศาสนา ทางวัฒนธรรม ที่ฝังรากลึกจนยากที่จะแก้ไข ยากที่จะ separate

24. The Handmaiden ( 2016 )

“ รุ่มร้อน อันตราย ”

หนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกรุ่มร้อน สงสัยสับสน กลัว หวาดระแวง เกลียดชัง ลุ้นระทึก ตลก อึ้งไปกับโครงสร้างของหนังที่มีความซับซ้อนแต่ถูกเรียบเรียงออกมาให้เข้าใจได้ง่าย

หนังได้ปล่อยคำถามจุก ๆ ให้เราได้คิดหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องมาตรฐานศีลธรรมของผู้คน , การยอมรับตัวตน , การถูกกดขี่ทางเพศ , กดขี่ทางความคิด ทั้งการปล่อยให้คนอื่นมากดขี่เรารวมถึงการปล่อยให้ตัวเองกดขี่ความคิดตัวเอง

23. Ex Machina ( 2014 )

“ เมื่อชีวิตไร้จุดประสงค์ที่แน่ชัด ”

หนัง Sci-fi จิตวิทยาเรื่องนี้ดูสนุก ดูง่าย และแปลกมาก ๆ มันทำเหมือนว่าตัวละครหลักเข้าไปสำรวจหุ่นยนต์สาวตัวหนึ่ง แต่เรากลับมองเห็นในทางตรงกันข้าม เรารู้สึกเหมือนหุ่นยนต์กำลังสำรวจเราอยู่ตลอดเวลามากกว่า

หนังยังพาเราไปตั้งคำถามต่อหลาย ๆ สิ่ง เช่น เเท้จริงเเล้วพระเจ้าอาจจะสร้างมนุษย์จริง ๆ เเต่เขาอาจจะไม่มีจุดประสงค์ใด ๆ เลยทั้งสิ้น เขาแค่สร้างเราได้เท่านั้น เหมือนที่เราสามารถก่อกองทรายได้ ปั่นจักรยานปล่อยมือได้ หรือสามารถผิวปากได้ เราแค่ทำได้เท่านั้นเอง , ทำไมมนุษย์ไม่สามารถยอมรับได้ว่าตัวเองเกิดมาโดยที่ไม่มีจุดประสงค์ใด ๆ ? หรือเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องสร้างจุดประสงค์ขึ้นมาด้วยตัวเอง?  และนี่คือพระเจ้าในแบบ  Ex Machina ที่สามารถสร้างหุ่น Ai ที่ชาญฉลาดได้ เพียงเพราะเขาสามารถสร้างมันได้เท่านั้น

22. So long , my son ( 2019 )

“ อัดอั้น อึดอัด รบกวนใจ แต่ก็อบอุ่น และ masterclass ในด้านการแสดงที่สุดยอด ”  

เคยไหมที่รู้สึกอึดอัด เพราะมีเรื่องที่มันค้างคาในใจ แต่ไม่สามารถพูดออกมาได้ หนังเรื่องนี้จะเป็นแบบนั้น หนังจะสร้างความทรงจำที่สุดเเสนจะมีความสุขให้คุณสักพักเเล้วก็ทลายมันลง หลังจากนั้นให้เราเอาตัวรอดเอาเองจากความรู้สึกนั้น เหมือนโยนเราลงไปในน้ำทั้งๆที่เราว่ายน้ำไม่เป็น รู้ตัวอีกทีเราก็ขึ้นมาที่ฝั่งได้เเล้ว

สิ่งที่ชอบที่สุด คือการที่หนังมักกระโดดข้ามกาลเวลากลับไปกลับมาอยู่บ่อยๆ  ปล่อยให้เราปะติดปะต่อเรื่องราวเอาเอง เล่นกับความทรงจำของเราไปเรื่อยๆ เหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละครที่ติดอยู่กับความทรงจำของตัวเอง อีกทั้งหนังมันไม่ได้อธิบายอะไรเราอย่างตรงไปตรงมา บางทีก็ใช้การไม่อธิบายนั่นแหละเป็นตัวบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ สะท้อนสังคมในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี แนะนำมากๆถ้าใครอยากเข้าใจบริบทการใช้ชีวิตของคนจีนในสมัยก่อน

21. Happy as Lazzaro ( 2018 )

“ ความงดงามของโลกในกะลาที่เราลังเลที่จะก้าวออกไป ”

โลกในกะลาที่ Lazzaro  อยู่นี้ช่างแสนงดงาม นุ่มนวล มากด้วยเสน่ห์  จนเราลังเลที่จะออกไป เรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เหมือนนิทานอีสปสมัยใหม่ที่ได้สร้างโลกแฟนตาซีขึ้นมาในแบบที่เราชื่นชอบ แฟนตาซีที่ข้ามกาลเวลาไปมาแต่ก็ยึดโยงความจริงที่แสนจะเจ็บปวดของมนุษย์เอาไว้อย่างครบถ้วน

20. The Social Network ( 2010 )

“ ถ้าเราหยุด…เราแพ้ ”

เพื่อน , ความรัก , การหักหลัง , เงิน , ธุรกิจ , สื่อโซเชียลฯ ,โลกที่ผู้คนไม่สามารถพูดกันได้อย่างตรงไปตรงมาซึ่ง ๆ หน้ากัน ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้อยู่ในหนังเรื่องนี้ทั้งหมด

สำหรับหนังในแนวทางนี้ The Social Network ถือเป็นงานที่สมบูรณ์แบบที่สุดในทุก ๆ องค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นดนตรีประกอบของ Trent Reznor ที่เท่เเละล้ำสมัยสุด ๆ การโต้ตอบกันอย่างเมามันด้วยบทสนทนาที่ยาวเหยียดตามเเบบฉบับของ Aaron Sorkin ที่ยอดเยี่ยมและการเร่งจังหวะเเบบไม่หยุดจากฉากนึงไปสู่ฉากนึง ทำให้เรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังเรื่องเดียวที่ปลดปล่อยพลังของยุคสมัยออกมาอย่างเเท้จริง เป็นพลังแห่งการไม่ยอมหยุดนิ่งเพราะกลัวจะตามโลกไม่ทัน

19. Call me by your name ( 2017 )

“ หนังที่มีอุณหภูมิเฉพาะตัว ”

สิ่งที่เราเเอบคาดหวังเสมอกับการดูหนังที่นำเสนอความรักระหว่าง ๆ ชาย ๆ ก็คือ หนังจะทำให้เราหลงใหลกับความรักได้เเค่ไหน ไม่ใช่การนำผู้ชมไปสู่ฉากกอดรัดฟัดเหวี่ยงกันเเบบร้อนเเรงโดยที่ความสัมพันธ์ยังไม่ถึงจุดที่อิ่มตัวเลยด้วยซ้ำ เราแค่อยากจะรู้สึกอิน อยากรู้สึกอบอุ่น อยากรู้สึกถึงความละมุละไมกับความรักของพวกเขามากกว่านี้ เเละหนังเรื่องนี้ทำให้เรารู้สึกจริง ๆ ว่านี่คือหนังรักของทุก ๆ คน ทุก ๆ เพศ

18. Marriage story ( 2019 )

“ โลกที่ความรักของคน 2 คนไม่สามารถซ้อนทับกันได้พอดี ”

ถ้าย้อนกลับไปสัก 10 ปี แล้วดูหนังเรื่องนี้ มันจะกลายเป็นแค่หนังที่ธรรมดาเรื่องหนึ่งที่เราไม่ค่อยอินนัก เเต่เมื่อเราเติบโตขึ้นเเละได้พบพานการความสัมพันธ์ที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งของตนเองและของคนอื่น ๆ ทั้งสุขทั้งทุกข์ปนแป ทำให้เรารู้สึกพิเศษมาก ๆ กับหนังเรื่องนี้ ทั้งการแสดงที่ยอดเยี่ยม บทตลกที่หาดูได้ยากเหมือนละครเวที ฉากบางฉากที่เซอร์ไพรซ์เราแบบที่เราไม่คาดคิด ทำให้หนังเรื่องนี้สมบูรณ์แบบและเข้าถึงได้ง่ายเป็นที่สุด

17. Phantom thread ( 2017 )

“ เราจะรู้สึกรักเมื่อเราเปราะบาง ”

นี่คงจะเป็น  Marriage story  ในเวอร์ชันของ Paul thomas anderson  เราจะได้เคลิบเคลิ้มไปกับดนตรีอันนุ่มนวลของ Jonny Greenwood , หลงรักงานด้านภาพเพล้อ ๆ  และสนุกไปกับการเเสดงอันยอดเยี่ยมของนักเเสดงทุก ๆ คน

หนังเซอร์ไพรซ์เราในหลาย ๆ เเง่มุม เช่น ในเรื่องสไตล์ เราแทบไม่ได้สนใจงานด้านเสื้อผ้าหรือความหรูหราสไตล์ยูโรเปียนใด ๆ เลย  เตรียมใจมาพอสมควรด้วยซ้ำว่าคงจะเบื่อ เเต่หนังเน้นหนักไปด้านความสัมพันธ์และการฟาดฟันกันไปมาของตัวละครหลักทั้ง 3 คนมากกว่า  อีกทั้งยังมีตลกเจ็บ ๆ ในเเบบที่เราไม่คาดคิด ทั้งยังชวนให้เราตั้งคำถามกับการรักษาสมดุลความรักระหว่าง “คนที่รัก” กับ “สิ่งที่รัก” ด้วยวิธีการที่น่าสนใจ

16. Roma ( 2018 )

“ พิพิธภัณฑ์แห่งชนชั้นและบาดแผลจากการแตกแยกทางการเมืองในโลกที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ”

หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยฉากพิเศษที่สมจริงสุด ๆ จนเเทบจะกลายเป็นหนังสารคดีแล้วด้วยซ้ำ เป็นหนึ่งในหนังที่บันทึกความทรงจำที่สำคัญของประวัติศาสตร์ทางความรู้สึกได้ดีที่สุดตั้งแต่เคยมีมา นอกจากนี้หนังยังโชว์ให้เห็นถึงทักษะการเป็นนักสังเกตที่ดี ที่เราได้เห็นจากหนังของ Alfonso Cuarón เสมอมา ร่วมถึงการโชว์ทักษะงานกำกับ ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่วยทำให้เราเข้าถึงหนังในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมกับประสบการณ์ที่หนังได้สร้างเอาไว้

15. Drive ( 2011 )

“ เท่ ๆ คุยกัน ”

หนังได้สร้างนิยามของพระเอกขึ้นมาใหม่ด้วยมุมมองที่น่าสนใจ มันเล่าถึงตัวเอกที่เกิดมาเพื่อเป็นตัวร้ายแต่ฝันอยากที่จะเป็นคนดี อยากจะเป็นพระเอกขึ้นมาทันใด เมื่อได้พบกับเธอ สาวห้องข้าง ๆ ลูกติดที่สามีอยู่ในเรือนจำ เนื้อเรื่องของมันดิบเถื่อน แต่หนังก็ทำออกมาได้อย่างมีสไตล์ เท่ ๆ เหงา ๆ มีเสน่ห์สุด ๆ มันจึงกลายเป็นหนังแอคชั่นดิบ ๆ ที่เเสนจะโรแมนติกอมชมพูที่สุดตั้งแต่เคยดูมา ทำให้เรานึกถึง The Phantom of the Opera ที่ใส่ดนตรี Synthwave เข้าไปแทน  เป็นการ “ตีความใหม่” ที่ลงตัวสุด ๆ ซึ่งเราเห็นหนังหลาย ๆ เรื่องในทศวรรษนี้ทำแบบนี้เช่นกัน

14. Under the Skin ( 2013 )

“ ความกลัวที่เกิดจากความไม่เข้าใจ ”

เราพอจะรู้ว่าภารกิจของตัวละครคืออะไร เเต่เราไม่เเน่ใจว่าพวกเขาเรียนรู้อะไรมาบ้าง

นี่เป็นหนังที่มอบรสชาติใหม่ ๆ ให้กับเราเหมือนการได้กินอาหารแปลก ๆ ได้เผชิญหน้ากับภาษาที่เราไม่คุ้นเคยเเต่ก็พอเข้าใจบ้างลาง ๆ ( หนังจะทำงานกับความคิดเราถ้าเราฟังภาษาอังกฤษรู้เรื่องเเต่ฟังสำเนียงสกอตติชได้นิดหน่อย )  ได้ท่องเที่ยวไปในประเทศที่เราไม่รู้จักที่ช่วงเเรกก็คงจะตื่นตากับสิ่งรอบข้าง เเต่ก็รู้สึกค่อย ๆ ตื่นกลัวเมื่อเราไม่รู้ว่าควรจะไปทางไหน ซึ่งมันคงไม่ต่างจากตัวละครหลักของเรื่องเท่าไรนัก

หนังจะใช้เวลาพอสมควรในการเติบโตขึ้นมาในความคิดของเรา แต่พอความคิดของเราได้ตกตะกอนดีเเล้ว เราก็พบสิ่งที่มหัศจรรย์มากมาย เเละเราก็มักจะได้รับอะไรใหม่ ๆ มาเรื่อย ๆ ในทุก ๆ ครั้งที่กลับไปดู  เป็นประสบการณ์การดูหนังที่ยากจะพบเจอในหนังเรื่องไหน อีกทั้งดนตรีประกอบของ Mica Levi  ก็ช่างสั่นประสาท รบกวนจิตใจซะเหลือเกิน

13. Hereditary ( 2018 )

“ สูญเสีย หมดสิ้นให้ถึงขีดสุด เหมือนฝันร้ายที่เราอยากจะตื่น ”

เป็นหนังจิตวิทยาที่หลอกหลอนเราทุกระดับชั้นจริง ๆ เริ่มตั้งแต่ความสยดสยองทั่วไปด้วยภาพติดตา ความโกรธเกรี้ยวรุนแรง ความหดหูจากความสูญเสีย ลุกลามไปถึงความเศร้าลึกจนไร้ซึ่งความหวังใด ๆ เป็นหนังที่ดูยากเรื่องหนึ่งที่แฟน ๆ Horror ต้องห้ามพลาดเด็ดขาด

12. Inside out ( 2015 )

“ โลกที่เราไม่เข้าใจ แต่เราอยากจะเข้าใจ ”

Inside out ทำงานในความคิดของเรามากกว่าหนัง Pixar เรื่องอื่น ๆ  แต่มันก็ยังคงเต็มไปด้วยเสน่ห์ดั้งเดิมที่ Pixar ถนัด นั่นคือการเป็นหนังที่ย่อยง่าย สามารถทำให้เรายิ้ม หัวเราะหรือเศร้าจนอยากร้องไห้ออกมา คอนเซ็ปต์ของหนังง่ายแต่เล่ายากเรื่องนี้มีโอกาสสูงที่เราจะงงถ้าคนทำฝีมือไม่ถึงจริง ๆ จนเราแอบกังวลว่าหนังจะทำยังไงกับจุดนี้  Inside out เซอร์ไพรส์ เรามาก ๆ เพราะทุกอย่างดูไหลลื่นไปหมด เป็นหนังที่ครบเครื่องด้านอารมณ์จริง ๆ

11. Burning ( 2018 )

“ เมื่อเห็นคนอื่นดูไม่ทุกข์ไม่ร้อน ไฟในใจจึงค่อย ๆ ก่อตัว ”

หนังลึกลับจิตวิทยาเรื่องนี้พาเราดำดิ่งไปสู่โลกแห่งความเหลื่อมล้ำในเเง่มุมที่น่าสนใจ โดยการเล่นกับบรรยากาศรอบ ๆ หน้าร้อน หน้าหนาว หน้าฝน ที่มนุษย์ต้องปรับตัวให้เข้ากับบรรยากาศเหล่านั้นและมันก็ถูกสอดแทรกเข้ามาได้อย่างแนบเนียน คมคาย ราวบทกวีแต่ก็ไม่ละทิ้งความตื่นเต้นในแบบฉบับของหนังลึกลับที่เต็มเปี่ยมไปด้วยสภาวะกดดัน กดขี่ทางด้านจิตใจ ที่เหมือนรอเวลาการปะทุตัวของอะไรบางอย่างตลอดเวลา หนังทิ้งเราด้วยคำถามมากมาย ที่ยิ่งคิด ยิ่งวิเคราะห์ ก็ยิ่งพบเจอสิ่งใหม่ ๆ เรื่อย ๆ  เหมาะที่จะดูมากกว่าหนึ่งรอบเพื่อจับรายละเอียดที่ซ่อนอยู่

10. Scott Pilgrim vs. the World ( 2010 )

“ กลับไปเป็นเด็กที่ชอบเล่นแต่เกมส์เดิม ๆ ”

เป็นหนึ่งในหนังที่เราดูบ่อยสุด ๆ ในทศวรรษนี้ เพราะมันมีส่วนผสมที่ง่ายต่อการดูซ้ำเป็นที่สุดในสายตาของคนเนิร์ด ๆ คนนึง ทั้งมุกตลกเเห้ง ๆ มึน ๆ เหวอ ๆ เเนวอนิเมะ, ดนตรีอินดี้ร็อก จังหวะฟังค์กี้ เท่ ๆ กวน ๆ , เรื่องราวความโรแมนติกคอมเมดี้เขิน ๆ บ้าบอ , บทสนทนาที่มีการเล่นคำไปมาที่ทำออกมาได้แบบเหลือเชื่อ , จังหวะตัดต่อทุก ๆ ฉากที่มีเอกลักษณ์ เฉียบคมเหมือนการ์ตูนตามแบบฉบับ Edgar Wright , การเเสดงที่ยอดเยี่ยมของนักเเสดงที่เล่นกันได้เนียนตาและมีเสน่ห์สุด ๆ  มันจึงทำให้หนังเรื่องนี้เป็นเหมือนเกมส์ที่เราอยากจะเข้าไปเล่นอีกเรื่อย ๆ

9. Jojo Rabbit ( 2019 )

“รักคือสิ่งที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก”

เราเชื่อเสมอว่า Taika Waititi น่าจะมีของดีซุกซ่อนอยู่เพียบ หลังจากได้เห็นงานเขียนบทของเขาใน Boy  หรือ Hunt for the Wilderpeople เราคิดว่างานของเขามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากๆ มันทั้งมีอารมณ์ขัน ทั้งเข้มข้น และไม่แห้งเเล้งจนเกินไปในประเด็นการเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านั้นได้ถูกปลดปล่อยออกมาอย่างเต็มที่ในหนังเรื่องนี้ หนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยเสน่ห์ เเละลีลาเฉพาะตัว

มันไม่ได้มอบความตลกแบบบ้าคลั่งให้กับเรา แต่เป็นตลกแบบ Happy sad ซะมากกว่า ที่สำคัญคือเราจะได้รับความอบอุ่นจากหนังเรื่องนี้ไปเต็มๆ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ในแบบเเม่กับลูก ซึ่งเราจะไม่แปลกใจเลยที่ผู้คนจะหลงรักหนังเรื่องนี้

8. Moonlight ( 2016 )

“ เราจะปกป้องความรู้สึกของตัวเองได้อย่างไร? ”

นี่คือหนังที่จะพาเราไปเรียนรู้ถึงวิธีการหักห้ามใจในเเบบต่าง ๆ ห้ามโมโห , ห้ามกลัว , ห้ามยิ้มมากไป , ห้ามร้องไห้ , ห้ามเเสดงออกว่ารัก อีกทั้งยังเป็นหนังที่ถูกสร้างมาให้เราจดจำอย่างแท้จริง ทั้งบทเพลงโรแมนติกอบอวลด้วยความรัก งานภาพสไตล์จัด ๆ มีเอกลักษณ์ที่ขับเคี่ยวอารมณ์ของเราให้หลงใหลไปตามเนื้อเรื่องโดยไม่รู้ตัว พร้อมแฝงแง่มุมที่น่าสนใจเข้าไปในหนังได้อย่างแนบเนียน เข้าถึงง่าย เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง ที่จะทำให้เรารู้สึกเปราะบางขึ้นมาได้จริง ๆ

7. Manchester by the sea ( 2016 )

“ ที่ที่เราสามารถใช้ชีวิตและมีชีวิต ”

มีหนังหลายเรื่องบอกให้เราพยายามเอาชนะกับอะไรสักอย่าง หนังเรื่องนี้ก็เป็นเช่นนั้น แต่ก็พบว่ามันไม่ง่ายอย่างที่คิด เราชอบหนังที่พยายามบอกกับเราว่า จริง ๆ แล้วมีหลายอย่างบนโลกที่เราเอาชนะมันไม่ได้และอาจไม่จำเป็นต้องเอาชนะด้วย การหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกับมันน่าจะเป็นทางออกที่ดูเป็นเหตุเป็นผลยิ่งกว่าในบางที

ด้วยการเเสดงที่เข้าขา เเละมุกตลกที่ใส่เข้ามาเรื่อย ๆ  ทำให้หนังที่มีพล็อตเรื่องหดหู่เรื่องนี้มีเสน่ห์เฉพาะตัวที่หาได้ยากจากหนังเรื่องไหน เป็นเเนวทางของ Kenneth Lonergan ที่เราชื่นชอบเสมอมาตั้งเเต่ You can count on me (2000) ผลงานเรื่องเเรกของเขา

6. Incendies ( 2010 )

“ บาดแผลจากสงครามและความรู้สึกผิด ”

หนึ่งสิ่งที่เรามักเเอบคาดหวังในการดูหนังที่มีเนื้อหาเข้มข้น ๆ ดิบ ๆ ที่เกี่ยวกับผลกระทบจากสงคราม คือ ตัวเรื่องจะพาเราไปในพื้นที่อันตรายมากเเค่ไหน ลงลึกถึงเพียงใด ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็พาเราไปลึกจริง ๆ เเละรู้สึกเรียลสุด ๆ สะเทือนใจสุด ๆ ถ้าคุณพร้อมที่จะรับมือกับอารมณ์หดหู่บาดลึก มึนเมาในห่วงความคิดเหมือนเพลงของ Radiohead หลอกหลอนในความรู้สึกถึงขั้นรบกวนจิตใจ Incendies เป็นหนังที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง

5. Poetry ( 2010 )

“ บทกวีที่ช่วยเยียวยาชีวิตจากสังคมอันบิดเบี้ยว ”

เป็นเรื่องราวของหญิงชราที่พบว่าตนเองเป็นโรคอัลไซเมอร์ ส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเธอคือการเรียนเขียนกลอนและเธอก็ทำได้ดี ส่วนหนึ่งทำงานหาเงินในอาชีพที่ไม่ค่อยน่าทำเท่าไร อีกส่วนหนึ่งต้องจัดการกับปัญหาของหลานชายของเธอ ที่เธอกำลังสงสัยว่าเขาได้ทำเรื่องเลวร้ายบางอย่างมา สิ่งที่อีชางดงทำได้เก่งสุด ๆ คือ เขารู้วิธีดึงเสน่ห์ตัวละครที่มีอดีตอันขมขื่นออกมาได้อย่างงดงาม พร้อมกับการหักมุมด้วยวิธีพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ โดยการให้เราหักมุมหนังด้วยตัวของเราเอง! และเข้าใจเนื้อหาของเรื่องในส่วนที่ไม่ได้เล่าออกมา! เช่น “ยายคนนั้นอาจจะเคย…มาก่อน” “เขาคนนั้นอาจจะเคย…มาก่อน”  “เหตุการณ์นั้นอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจริง?” มันเป็นช่องว่างวิเศษที่เหมือนว่ามีเเต่อีชางดงเท่านั้นที่ทำอะไรเเบบนี้ได้ การตกผลึกทางความคิดหลังจากได้ดูหนังของเขาทำให้มาตรฐานในการดูหนังของเราเปลี่ยนไป

4. Inception ( 2010 )

“ หนังโนเเลนด์ ”

ถ้าลองหาเส้นมาตรฐานมาหนึ่งเส้นเพื่อเเบ่งว่า หนังเเบบไหนที่มีเพียงฮอลลีวูดทำได้ กับหนังแบบไหนที่ “ไม่ต้อง” ฮอลลีวูดก็ทำได้ Inception คือเส้นแบ่งนั้น มันเป็นงานที่มี Production ยิ่งใหญ่และมีเนื้อหาที่เข้มข้น คือการทำเรื่องเพ้อเจ้อเหนือจินตนาการให้ดูน่าเชื่อถือ ที่สำคัญคือ มันเป็น “สิ่งใหม่” ในโลกภาพยนตร์ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับหนังเรื่องอื่น ๆ

3. Parasite ( 2019 )

“ เร้าจังหวะหัวใจ ”

สิ่งที่ชอบที่สุดในหนังของบงจุงโฮ คือการที่เขาสามารถหาช่องทางในการใส่มุกตลกเข้าไปในหนังจนได้เเม้ว่าเรื่องราวจะดราม่าเเค่ไหนก็ตาม และก็สามารถแบ่งที่ว่างให้คนดูได้ตีความถึงเมสเสจที่ซ่อนอยู่ได้อย่างพอดี

หนังเข้าใจการเร้าจังหวะ เร่งหัวใจของคนดู เเละมีการผสมผสานอารมณ์ได้อย่างลงตัว ทั้งความตลกร้าย ความดราม่าเสียดสีสังคม ความสยองขวัญลึกลับ ดูเป็นหนังแมส หนังครอบครัวที่ไม่ดูง่ายจนเกินไป เเต่เข้าถึงง่าย

การที่หนังทำให้ชาวอเมริกัน(ชนชาติที่เกลียดการอ่านซับเป็นที่สุด) ยอมรับหนังเรื่องนี้ได้ ก็ถือว่าเป็นบทพิสูจน์ถึงคุณภาพของหนังได้ดีเลยทีเดียว

2. Mad Max : Fury Road ( 2015 )

“ เกรี้ยวกราด ป่าเถื่อน เร้าใจ ”

นี่คือหนังแอคชั่นที่ดึงความ Feminist เข้ามาผสมกับความ Masculinity ได้เร้าใจที่สุดตั้งเเต่ที่เคยมีมา ทั้งยังสามารถสนุกสนาน เมามันสุด ๆกับสิ่งที่หนังได้ใส่เข้ามาหาคนดูอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย  เป็นหนังที่ได้สร้างมาตรฐานหนังแอคชั่นยุคใหม่อย่างเเท้จริง ว่ามันจะต้องมีฉากแอคชั่นระดับไคลแม็กซ์ เข้ามาอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ  5 นาที ดังเช่นที่เกินใน Avenger , John Wick เเต่ยังคงไว้ซึ่งความสำคัญของเนื้อเรื่องเอาไว้อยู่

1. Silence ( 2016 )

“ คำถามที่ยิ่งใหญ่ ”

หนังเรื่องนี้ไม่ได้พยายามโน้มน้าวให้เราเชื่อในศาสนาคริสต์หรือไม่เชื่อในศาสนา( Atheism ) แต่อย่างใด เเต่มันมีเเง่มุมที่น่าสนใจหลาย ๆ อย่างมากกว่านั้นถ้าเราได้เข้าไปผจญภัยกับพวกเขาอย่างเปิดใจ แต่ต้องยอมรับว่า Silence เป็นหนังที่ดูยากเรื่องหนึ่งเพราะมันเต็มไปด้วยภาพที่รุนแรง สะเทือนอารมณ์

นี่เป็นหนังเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังเเละอารมณ์ที่ยากจะอธิบาย คล้าย ๆ กับความรู้สึกเเรกที่เราได้ดู Apocalypse Now หรือ Schindler’s List  มันรู้สึกได้ทันทีว่านี่คือหนังที่สำคัญ ที่กำลังส่งผ่านเมสเสจที่ยิ่งใหญ่ของยุคสมัยมาให้แก่เรา

หนังไม่ลังเลที่จะถามเราด้วยคำถามที่ยิ่งใหญ่ พร้อมกดดันให้เราต้องหาคำตอบให้ได้อย่างไม่ประนีประนอม ว่าทำไมเราต้องมีความเชื่อ , อะไรคือคุณค่าของการมีชีวิต , ความเชื่อของเรานำไปสู่อะไรได้บ้าง , อะไรที่ทำให้เรายังมีชีวิตอยู่ , เราต้องเเสดงออกในความเชื่อของเราหรือไม่ ,  ความเชื่อนำพาสันติสุขได้จริงเหรอ หรือความเชื่อนั่นแหละที่ทำให้คนเห็นเเก่ตัวมากขึ้น แล้วอะไรล่ะที่เป็นเส้นแบ่งของความเสียสละกับความเห็นแก่ตัว ฯลฯ

ในขณะเดียวกันหนังก็เหมือนพยายามวัดระดับ “การเปิดใจ” ของเรา และพยายามทำลายความเป็นโรดิเกซ(ตัวละครหลัก)ในตัวเราอยู่ตลอดเวลา ที่มีสภาวะดึงดันยึดมั่นกับความเชื่อของตัวเองเหนือสิ่งอื่นใด

หนังเปิดพื้นที่ให้เราครุ่นคิดตั้งเเต่ต้นจนจบ โดยที่ไม่ชี้นำว่าเราควรจะคิดเเบบไหน นับถือศาสนาอะไร หรือเชื่อในอะไร แต่สิ่งที่เราชื่นชอบที่สุดในหนังคือวิธีการที่ตัวละครใช้สื่อสารกัน พวกเขาจะกระซิบกันเป็นส่วนใหญ่ จนการกระซิบนั้นได้แปรเปลี่ยนเป็นความเงียบ ที่ยิ่งเงียบเท่าไรก็ดูเหมือนความรู้สึกจะยิ่งส่งเสียงออกมาชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ

 

50 หนังที่ดีที่สุดในช่วง 2000 -2009

 

 

One thought on “ภาพยนตร์ 50 เรื่องที่ดีที่สุดแห่งทศวรรษ – The Vapor”

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.