ความรักคืออะไร? บางทีคำตอบของมันอาจจะขึ้นอยู่กับว่า “ใครจะเป็นคนตอบ” แต่ถ้าตอบไปในเชิงวิทยาศาสตร์ ความรักก็คือกลุ่มก้อนของสารเคมีในร่างกายที่ทำปฏิกิริยาร่วมกันรูปแบบหนึ่งเท่านั้น
มันคือการทำงานของ อะดรีนาลีน,โดปามีน,เซโรโทนิน,ออกซิโทซิน,เทสโทสเทอโรน เป็นฮอร์โมนที่จะทำหน้าที่ในการควบคุมสารเคมีต่างๆในร่างกาย ส่งผลทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองที่ต่างกัน
บางคนรู้สึกเขินอายเมื่อใดที่มีความรัก บางคนถึงขั้นป่วยหนัก
เเต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คนที่มีความรักได้ตกเป็นเหยื่อของปฏิกิริยาเคมีในร่างกายไปแล้ว มันจะควบคุมร่างกาย ควบคุมความรู้สึก เเละบังคับให้เราทำอะไรบางอย่างออกไป ทั้งที่เราอยากทำและไม่อยากทำ ทั้งที่เราตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ
จากผลการศึกษาของ Helen Fisher, นักมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัย Rutgers ฮอร์โมนในร่างกายจะทำหน้าที่ต่างกัน บางส่วนมันทำให้เกิดอารมณ์ทางเพศ บางส่วนทำให้ท้องไส้ปั่นป่วน ท้ายที่สุดสารเคมีที่เกิดขึ้นจะรักษาสมดุลเมื่อความสัมพันธ์ได้ถูกดำเนินไปสักระยะ โดยทั้งหมดจะต้องผ่านสภาวะต่อไปนี้
ต้องการ – Desire
เป็นตัวขับเคลื่อนให้เรารู้สึกกับใครบางคนเป็นพิเศษ มากกว่าคนทั่วๆไป
เมื่อใดที่เราสนใจใครคนหนึ่งเป็นพิเศษ เราจะเริ่มจินตนาการบางอย่างขึ้นมา แล้วจะทำให้เกิดการหลั่งเอสโตรเจน หรือ เทสโทสเทอโรน ออกมา ทำให้ อะดรีนาลีน พลุ่งพล่านไปทั่วร่างกาย หลังจากนั้นหัวใจของเราก็จะเต้นเร็วขึ้น เหงื่อของเราจะไหลออกมามากขึ้น ปากของเราจะแห้งกว่าปกติ
ดึงดูด – Attraction
ในขณะที่สารเคมีในร่างกายได้ทำงานสักระยะ โดปามีน จะเริ่มทำงาน ซึ่งจะเป็นตัวเพิ่มการหลั่งของ เทสโทสเทอโรน ให้มากขึ้น โดปามีน ที่พลุ่งพล่านจะส่งผลทำให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายตอบสนอง ที่เห็นได้ชัดๆคือการตื่นตัวของอวัยวะเพศ รวมถึงทำให้เราตื่นเต้น รู้สึกเหมือนว่าเรามีพลังขึ้นมา ทำให้เราเกิดอาการที่เรียกว่า Brain reward pathway คือมีความปิติสุข เเละเราจะรู้สึกเหมือนมีอะไรวิ่งอยู่ในท้องตลอดเวลา
ท้ายที่สุดมันทำให้เราเสพติดอาการเเบบนี้ ทำให้เราคิดถึงเขาคนนั้น อยากไปเข้าใกล้คนนั้น เพื่อทำให้ โดปามีน มันพลุ่งพล่านขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้เรามีความสุขเเละมึนเมาไปพร้อม ๆ กันในท้ายที่สุด
ยิ่งเราเกิดอาการตกหลุมรักมากเท่าไร เราก็จะหลั่งสารเคมีมากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น ฟีโรโมน, นอร์อิพิเนฟริน , ฟีนิลแอลานีน,เซโรโทนิน สารพวกนี้จะทำหน้าที่เหมือนแอมเฟตามีน มันทำให้สมองทำงานมากขึ้นคล้ายกับคนติดยา หัวใจจะเต้นเเรงขึ้น รู้สึกตื่นเต้นขึ้นมา กินไม่ได้ นอนไม่หลับ
นอร์อิพิเนฟริน ทำให้เรารู้สึกตื่นตัว จนนอนไม่หลับอีกทั้งยังทำให้เราคิดถึงคนคนนั้นในทุกๆ บริบท ทั้งรูปเก่าๆ เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น มันทำให้เราอยากจะเข้าไปสอดเเนมเขาอยู่บ่อยๆตามสื่อโซเชียลฯ ไม่ใช่เพราะว่าเราเป็นพวกโรคจิตเเต่อย่างใด แต่มันเป็นเรื่องของฮอร์โมนล้วนๆ
ฟีนิลแอลานีนจะหลั่งออกมามากในสภาวะนี้เช่นกัน มันทำให้เราไม่อยากอาหาร ถ้าหากความรักของเราจบสิ้น ฮอร์โมนตัวนี้จะหลั่งออกมาน้อยลง ทำให้เรารู้สึกเศร้า หรือหดหู่ขึ้นมา
อบอุ่นใจ – Affection
ภาวะนี้จะช่วยทำให้คู่รักอยู่ด้วยกันได้อย่างยืนยาว จะมี ออกซิโทซิน และวาโซเพรสซิน รับผิดชอบในส่วนนี้ ช่วยรักษาสภาวะความสุขให้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เเต่มันก็สามารถหยุดการทำงานได้เช่นกัน
ถึงอย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาโดย Bianca Acevedo ได้ค้นพบว่าสภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นอย่างยาวนานตลอดชีวิตได้
และยังพบว่า คู่รักที่คบกันมายาวนาน มากกว่า 15 ปี จะยังคงหลั่งสาร โดปามีน อยู่ในลักษณะเดียวกับช่วงที่คบกันใหม่ๆ อีกทั้งยังพบว่ามีพื้นที่อื่นๆในสมองที่หลั่งออกซิโทซิน และวาโซเพรสซินอยู่เช่นกัน
ส่วนการหลั่งของ เซโรโทนิน พบได้ในส่วนของโอปิออยด์ รีเซพเตอร์ ซึ่งมักพบตอนที่อาการเจ็บปวดหรือซึมเศร้าถูกทำให้ทุเลาลง หมายความว่า ความสัมพันธ์ที่ยืนยาว มั่นคง สามารถทำให้เรารู้สึกดีและสงบได้จริง
แต่เมื่อใดที่ความสัมพันธ์ที่ยืนยาวนั้นจบลง เมื่อมีความรักครั้งใหม่เกิดขึ้น มันจะรุนแรงยิ่งกว่าครั้งไหนๆที่ผ่านมา
Sources: portal.idc.ac.il, theanatomyoflove.com