ระบบการปกครองของประเทศเหล่านี้…แหวกแนวไม่ซ้ำใคร?

เมื่อตอนเด็กๆ สิ่งที่เราคิดเสมอมา คือ การปกครองจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบคือแบบที่มีประธานาธิบดีเป็นผู้นำสูงสุด กับ แบบที่มีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข แล้วจะมีนายกรัฐมนตรีทำตัวเป็นหัวหน้าใหญ่สุดในสภาอีกที

จริงๆแล้วมันก็เข้าใจได้ง่ายถ้าจะเเบ่งเป็น 2 ระบบแบบนี้ แต่ทว่ายังมีอีกหลายๆประเทศที่ไม่ได้ปกครองโดยใช้ทั้ง 2 ระบบนี้?

พวกเขาเลือกที่จะเเตกต่าง หรือมีเหตุผลอะไรซ่อนอยู่ในระบบที่พวกเขาได้สร้างขึ้นมากันเเน่?

หัวหน้ารัฐมนตรีทั้ง 7 กระทรวงกับ 1 นายกรัฐมนตรี [ 2018 ] – [ Image source commons.wikimedia.org ]

สวิตเซอร์แลนด์

พวกเขามีระบบที่เรียกว่าประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) อันเลื่องชื่อ ที่ทุกคนมีส่วนร่วมจริงๆในการวางกฎหมายแต่ละอย่าง

สวิตเซอร์แลนด์จะมีอยู่ด้วยกัน 26 เมือง ซึ่งแต่ละเมืองจะมีสภา มีกระทรวง เป็นของตัวเอง แต่ละปีผู้คนจะออกไปโหวตราวๆ 4 ครั้ง ในปัญหาที่แตกต่างกันไป ทั้งเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับชุมชนที่ตัวเองอยู่หรือปัญหาระดับประเทศ

ตัวอย่างเช่น คนในชุมชนต้องการให้มีการสร้างโรงเรียนในพื้นที่ของชุมชนหรือไม่ หรือปัญหาใหญ่ๆ เช่น สวัสดิการคนชราควรเป็นอย่างไร

ทุกๆ 4 ปีจะมีการเลือกตั้งผู้เเทนให้เข้าไปในสภาจำนวน 200 คน มีทั้งหมดให้เลือก 4 พรรค ซึ่งจะเลือกผู้แทนให้เข้าไปใน 2 สภา สภาแห่งชาติ กับสภาแห่งรัฐ  แต่ละสภาจะมีอำนาจเท่ากัน

สภาแห่งชาติ จะมีผู้แทนที่มาจากเมืองต่างๆ ถ้าเมืองไหนมีคนเยอะก็จะมีผู้แทนเยอะ ถ้าเมืองไหนมีคนน้อยก็จะมีผู้แทนจำนวนน้อยกว่า เช่น ในเมืองซูริคที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน พวกเขาจะได้พื้นที่ในสภา 35 ที่นั่ง ต่างจากเมืองอูรี ที่มีประชากรราว 4 หมื่นคน จะได้พื้นที่ในสภาเพียง 1 ที่นั่ง ระบบนี้ทำให้เมืองใหญ่ๆมีอำนาจในสภาเหนือกว่าเมืองเล็กๆ พวกเขาจึงสร้างอีกสภาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ คือ…

สภาแห่งรัฐ จะมีผู้แทนอยู่ 46 คน ซึ่งแต่ละเมืองจะมีโควต้าอยู่ด้วยกัน 2 ที่นั่งไม่เกินนี้

กฎหมายจะผ่านก็ต่อเมื่อทั้ง 2 สภาโหวตไปในทางเดียวกัน เเละต้องรอ 90 วันก่อนจะถูกบังคับใช้ ในกรณีประชาชนไม่เห็นด้วยก็สามารถรวบรวมรายชื่อกันได้ระหว่างนั้น

ผู้แทนทั้ง 2 สภา จะโหวตเลือกรัฐมนตรีประจำทั้ง 7 กระทรวง ( Federal Councillor)  ซึ่งแต่ละพรรคจะได้ไป 2 ที่นั่งแบ่งๆกันไป ยกเว้นพรรค Swiss People’s Party ที่ได้ไป 1 ที่นั่ง

จากนั้นรัฐมนตรีก็จะโหวตกันเองว่าใครควรเป็นประธานาธิบดี ซึ่งประธานาธิบดีจะมีวาระเพียงแค่ 1 ปี และมีอำนาจเทียบเท่ากับรัฐมนตรีกระทรวงอื่นๆ นั่นก็หมายถึงในทางปฏิบัติเเล้วสวิตเซอร์แลนด์จะมีประธานาธิบดีถึง 7 คนใน 1 สมัย ทำให้พวกเขาไม่มีการส่งประมุขไปเยือนประเทศอื่น เเต่จะส่งไปในนามของตัวเเทนจากกระทรวงทั้ง 7 แทน

ในปี 1945 มาโมรุ ชิเงมิตซึ  ( Mamoru Shigemitsu ) ลงนามยุติสงครามอย่างเป็นทางการกับสหรัฐฯพร้อมกับเงื่อนไขอีกมากมาย  [ Image source -en.wikipedia.org ]

ญี่ปุ่น

เป็นประเทศหนึ่งเดียวที่มีองค์จักรพรรดิเป็นผู้นำสูงสุดในประเทศ เเต่ทรงไม่มีอำนาจอะไรเลย

เหตุผลมาจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นเเพ้สงครามโลก สหรัฐฯจึงเรียกร้องให้มีการลงนาม กึ่งๆบังคับให้ญี่ปุ่นวางสถานะองค์จักรพรรดิให้เป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ของชนชาติเท่านั้นและไม่สามารถยุ่งเกี่ยวกับการเมืองได้  เพราะมองว่า ในช่วงก่อนสงครามโลกการที่ญี่ปุ่นมีระบบการปกครองที่องค์จักรพรรดิมีอำนาจเต็ม แบบทำอะไรก็ไม่ผิดเลย ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการนำปัญหามาสู่ประเทศได้ในท้ายที่สุด

ทำให้ปัจจุบันบทบาทขององค์จักรพรรดิไม่ต่างจากธงชาติญี่ปุ่นที่มีหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติเท่านั้น ถ้าคนในราชวงศ์ต้องการจะทำอะไร อย่างเช่นการเข้าร่วมพิธีต่างๆ พวกเขาจะต้องผ่านการพิจารณาจากรัฐบาลก่อนเสมอ

ส่วนระบบสภาจะแบ่งเป็น 2 สภาด้วยกัน คือ สภาล่าง ที่มีวาระ 4 ปี กับ สภาสูงที่มีอำนาจเหนือกว่า ซึ่งจะมีวาระ 6 ปี สมาชิกของทั้ง 2 สภาจะมาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศ

ผู้นำ 2 คนของอันดอร์รา Joan Enric Vives Sicília (ซ้าย) และ Emmanuel Macron (ขวา) [ Image source -en.wikipedia.org ]

อันดอร์รา

ประเทศเล็ก ๆ มีประชากรไม่ถึง 1 แสนคน ตั้งอยู่ระหว่างฝรั่งเศสกับสเปน

ถึงแม้ว่าอันดอร์ราจะเป็นประเทศเล็กๆ แต่พวกเขามีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 10.2 ล้านคนต่อปี โดยพวกเขาใช้วิธีดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยการขายสินค้าประเภทปลอดภาษี และมีที่เล่นสกีที่สวยงาม

พวกเขาจะปกครองด้วยระบบ Co-Principality หรือ Co-Princes คือระบบที่มีผู้นำ 2 คน คนแรกจะเป็นประธานาธิบดีฝรั่งเศส คนที่สองจะเป็นพระราชาคณะ (Bishop) แห่งเมือง Urgell ของสเปนซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ติดกับอันดอร์รา

ระบบนี้เกิดขึ้นได้จากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน  ต่อมาก็มีการต่อสู้กันในพื้นที่ กินเวลายาวนานจนตกลงกันได้ว่าจะแบ่งให้ผู้นำของทั้ง 2 ประเทศเข้ามาปกครอง

พวกเขามีนายกรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของชาวอันดอร์ราเช่นกัน และมีวาระ 4 ปี แต่ด้วยความที่อันดอร์ราไม่ได้มีอำนาจอะไรในเวทีโลกพวกเขาจึงยินดีให้ฝรั่งเศสกับสเปนเข้ามาบริหารระบบดีกว่า โดยจะส่งตัวแทนจากทั้ง 2 ประเทศเข้ามาบริหารงานภายใน

ซานมารีโนเป็นประเทศที่อยู่บนเขา ยากที่จะเข้าไปยึดครองในช่วงสงคราม ทำให้เป็นแหล่งลี้ภัยชั้นดีของนักโทษการเมือง [Image source : twallpapercave.com ]

ซานมารีโน

เป็นประเทศเล็กๆที่มีประชากรเพียง 3 หมื่นกว่าคน อยู่ติดกับประเทศอิตาลี พวกเขาไม่มีทั้งประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี หรือกษัตริย์

แต่พวกเขามีสิ่งที่เรียกว่า Captain Regent เป็นผู้นำประเทศ และมีถึง 2 คน ซึ่งอยู่กันคนละพรรค มีวาระการทำงานเพียงแค่ 6 เดือน และมีช่วงที่ประชาชนสามารถท้วงติงข้อผิดพลาดของพวกเขาได้เพียง 3 วันเท่านั้น

พวกเขาจะได้รับเลือกโดยการโหวตของสมาชิกสภาซึ่งถือว่าเป็นคนที่มีอำนาจตัวจริงในประเทศ พวกเขาจะมีวาระการทำงาน 5 ปี โดยมาจากการเลือกตั้ง

ซานมารีโนไม่ได้ต้องการที่จะแหวกแนวอะไร แต่แค่ต้องการจะรักษาวัฒนธรรมนี้เอาไว้ เหมือนตอนที่อาณาจักรโรมันเรืองอำนาจในแถบนี้

แท้จริงแล้วในทางปฏิบัติซานมารีโนถูกปกครองโดยอิตาลีอยู่นั่นแหละ แต่การที่ซานมารีโน เป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนภูเขา ยากต่อการเข้าถึง อิตาลีเลยปล่อยให้ซานมารีโนเป็นประเทศอิสระ อีกทั้งยังเป็นเขตที่เคยใช้ลี้ภัยของนักปฏิวัติที่สนับสนุนการรวมชาติในอิตาลี ภายหลังที่อีตาลีรวมชาติได้สำเร็จพวกเขาจึงลงนามให้ซานมารีโนเป็นเอกราชอย่างเป็นทางการ

ซานมารีโนรอดพ้นจากการเข้ามายึดครองอย่างยาวนานหลายยุคสมัย แม้แต่ในช่วงที่นโปเลียนของฝรั่งเศสเข้ายึดครองประเทศต่างๆทั่วยุโรป พวกเขายังปล่อยให้ซานมารีโนได้เป็นอิสระเช่นกัน เพราะเข้าถึงได้ยากเหลือเกิน

รูปปั้นของคิม อิล ซ็อง  [ Image source – NPR ]

เกาหลีเหนือ

เราพอจะทราบมาเเล้วว่า คิม จ็อง อึน เป็นผู้นำสูงสุดของประเทศในขณะนี้ แต่แท้จริงแล้วมันไม่ใช่? ระบบการปกครองของเกาหลีเหนือเหนือชั้นกว่านั้นมาก

ถ้าดูจากหน้าที่การทำงานของ คิม จ็อง อึน ที่เป็นแบบทางการ เขาจะไม่ใช่ทั้งประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี หรือแม้แต่กษัตริย์ แต่เขาเป็นเพียงคนที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแรงงาน(ทั้งประเทศมีอยู่พรรคเดียว) และเป็นหัวหน้ากองกำลังทหารรักษาประเทศเท่านั้น (Chairman of the National Defense Commission) ซึ่งมีหน้าที่สูงสุดในการปกครองด้านการเมือง ทหาร เศรษฐกิจ ซึ่งในทางปฏิบัติก็ถือว่าเป็นผู้นำนั่นแหละ

แต่เหตุผลที่สื่อต่างๆเรียก คิม จ็อง อึน ว่า “ท่านผู้นำ” เสมอมา ไม่ใช่ “ท่านประธานาธิบดี”  เพราะว่า ประธานาธิบดีตัวจริงของเกาหลีเหนือยังคงเป็น คิม อิล ซ็อง  ปู่ของ คิม จอง อึน ซึ่งเป็นคนสถาปนาประเทศเกาหลีเหนือขึ้นมา

ด้วยความที่ลูกชายของคิม อิล ซ็อง แลเห็นว่าพ่อของเขาเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในประเทศเขาจึงสถาปนาให้พ่อของเขาเป็นประธานาธิบดีชั่วนิจนิรันดร์(Eternal President)  แม้ว่าเขาจะตายไปแล้วก็ตาม!!!

คิม อิล ซ็องปกครองเกาหลีเหนือมายาวนานกว่า 40 ปี ส่วนลูกชายของเขา คิม จ็อง อิล  ปกครองประเทศมา 17 ปี

 

 

 

 

Source: wikipedia

follow

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.