ตกลงแล้ว…แค่ไหนถึงเรียกว่า“ชนชั้นกลาง” – Middle Class

หนึ่งคำที่ถูกพูดถึงน้อยสุดๆในช่วงที่การเมืองกลายเป็นสิ่งที่แมสสุดๆในสังคมไทย คือ ชนชั้นกลาง ( middle class ) ทั้งๆที่ตามพื้นฐานเเล้วกลไกของประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ดีที่ได้มาตรฐาน  ตามแนวทางของ William Thompson & Joseph Hickey, 2005 ที่ใช้แบ่งเเยกชนชั้นในสังคมสหรัฐฯ  ชนชั้นที่อยู่ตรงกลางควรจะมีอยู่ประมาณ 50 – 80% ของประชากรในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นประชากรส่วนใหญ่

มันจึงทำให้เราสับสนว่าประเทศเรามีชนชั้นกลางจำนวนเท่าไร? หรือเเม้แต่สับสนว่า..เเค่ไหนกันเเน่ถึงเรียกว่าชนชั้นกลาง?

 

 

ถ้าย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ รูปแบบชนชั้นจะเเบ่งเป็น 2 ประเภทชัดเจน นั่นก็คือคนที่รวยมากกับคนจนมาก เหตุผลก็เพราะสมัยก่อนไม่ค่อยจะมีงานให้ทำมากนักเมื่อเทียบกับสมัยนี้ จะมีเพียงคนที่เป็นเจ้าของที่ดิน และเกษตรกร กรรมกรที่ทำงานให้กับพวกเขา

เเต่หลังจากการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมเเละเทคโนโลยี ชนชั้นกลางจึงถือกำเนิดขึ้นมาเป็นหัวใจสำคัญในระบบเศรษฐกิจ และใหญ่ขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาบางประเทศและกลุ่มประเทศที่พัฒนาเเล้ว

ซึ่งสามารถแยกออกจากกันง่ายๆได้เป็น…

Upper middle class – อยู่ตัว

หน้าที่การงานของพ่อเเม่ของคนระดับ  Upper middle class ( ชนชั้นกลางระดับบน )  จะอยู่ในตำแหน่งที่ดีในสังคมถึงขั้นเป็นผู้บริหารองค์กร หรือ อยู่ในตำเเหน่งสูงๆในบริษัท จบการศึกษาที่สูงระดับโท เอก หรือจบจากเมืองนอก  มีที่อยู่อาศัยที่เเน่น่อน ลูกๆของพวกเขาอาจจะขับรถไปโรงเรียน มีโอกาสได้รับการศึกษาที่ดี  เเละพวกเขามีโอกาสที่จะมีเพื่อนๆที่อยู่ในครอบครัวชนชั้นกลางค่อนข้างสูงเหมือนๆกัน ชีวิตของพวกเขาสุขสบายไม่มีหนี้สินรบกวนใจ ทำให้สังคมมองว่าพวกเขาคือคนรวยคนหนึ่ง ซึ่งสิ่งที่สำคัญมากๆของคนกลุ่มนี้คือสถานะการเงินของพ่อเเม่

Lower middle class – สบายตัว

ผู้คนที่อยู่ในช่วง Lower middle class ( ชนชั้นกลางระดับล่าง )  มีความสามารถ มีทักษะในการทำงานที่ดีและอาจไม่จำเป็นต้องใช้แรงมากนักเมื่อเทียบกับชนชั้นเเรงงาน คุณสมบัติพื้นฐานของคนในระดับนี้ คือ การจบปริญญา เเละมีงานทำที่เป็นหลักแหล่ง เข้าออกงานเป็นเวลา รายได้ของพวกเขาจะวัดระดับจากความสามารถที่พวกเขามี

พวกเขาจะมีหนี้สินมารบกวนใจอยู่บ้างเเต่ก็สามารถจัดการกับมันได้ การได้รับโบนัสจะเป็นสิ่งที่งดงามสำหรับชีวิตพวกเขา และมันทำให้พวกเขาคิดถึงการไปเที่ยว ออกไปวิ่งมาราธอนที่ต่างประเทศ หรือคิดจะสร้างธุรกิจขึ้นมาให้ตัวเองได้มีรายได้เพิ่มขึ้นเเต่ก็พบว่าผู้คนที่อยู่ในระดับนี้มักจะพอใจที่จะอยู่ในชนชั้นนี้ต่อไป เพราะถือว่าพวกเขามีงานที่มั่นคงอยู่เเล้ว

แต่ก็จะมีหลายๆคนที่ชอบทำให้พวกเขาสับสนเรื่อยๆ บอกว่าพวกเขาเป็นพวกพนักงานออฟฟิศธรรมดาๆ พวกเขาต้องรวย ต้องมีเเรงบันดาลใจ ทั้งๆที่ชีวิตของพวกเขาก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร

เเต่ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่มีความก้ำกึ่ง ที่อาจจะเป็นโฉมหน้าที่เเท้จริงของชนชั้นกลางตัวจริงในเมืองไทย นั่นก็คือ…

Working class – ดิ้นรนพอตัว

เมื่อถึงเวลาที่สภาวะเศรษฐกิจมีปัญหา คนกลุ่มนี้จะรู้สึกเป็นกลุ่มเเรก

สภาวะการเงินของ Working class ( ชนชั้นแรงงาน ) จะฝืดเคืองบ้างในบางช่วง มีงานประจำเป็นหลักแหล่งก็จริง แต่พอมีเงินเข้ามาก็ต้องนำไปจ่ายหนี้ พวกเขายังจะมีเวลาไปเที่ยวอยู่ ยังมีเงินเพียงพอที่จะซื้อของเล่นให้ลูกอยู่เเต่ก็อาจไม่พอสำหรับค่าเรียนพิเศษในวิชาที่ไม่ได้มีไว้สอบ เช่น เรียนดนตรี เรียนเต้น

พวกเขาจะกังวลอยู่บ่อยๆว่า…ทำยังไงให้ชีวิตดีขึ้น ความกดดันด้านรายได้นี้ผลักดันให้พวกเขาออกมาทำอะไรจริงจังเพื่อยกระดับฐานะของตัวเอง มันจึงทำให้หลายๆคนก้าวกระโดดขึ้นไปสู่ชนชั้นกลางระดับบนโดยไม่จำเป็นต้องผ่านชนชั้นกลางระดับล่างเลย

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้พวกเขายังคงอยู่ในชั้นนี้เเละมีโอกาสข้ามไปสู่ชนชั้นกลางระดับบนได้คือ “ศักดิ์ศรี” ที่ไม่ยอมเด็ดขาดที่จะกลายเป็นชนชั้นล่าง ซึ่งเป็นพลังที่รุนเเรงพอที่ทำให้พวกเขาเลือกเสี่ยงกับอะไรสักอย่างที่จะทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น ซึ่งการเสี่ยงนั้นสามารถทำให้เกิดผลเสียได้เช่นกัน

เเต่ไม่ว่าจะอยู่ในระดับไหนของชนชั้นกลาง พวกเขาจะมีวิธีคิดไม่ต่างกันมากนัก ซึ่งเเนวคิดที่โดดเด่นที่เกิดขึ้นก็คือ..

Consumerism – เลือกได้

Consumerism ( บริโภคนิยม ) คือการมีเงินเพียงพอที่จะจับจ่ายให้กับสินค้าที่มีราคาไม่เเพงนักเพื่อเติมเต็มความสุขของตัวเอง เช่น การไปดูหนัง การซื้อหนังสือมาเก็บไว้เเล้วไม่อ่าน การซื้อเสื้อผ้าตามกระเเส การไปชมศิลปินคนโปรด การซื้อของลดราคา

พวกเขาไม่ได้มีความลำบากในการอยากที่จะเป็นนักสะสมตัวยง โดยการซื้อสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบมาเก็บไว้ดูเฉยๆ อีกทั้งยังเป็นการโชว์ไลฟ์สไตล์ โชว์จุดยืน โชว์อุดมการณ์ของตัวเอง เเละพ่อเเม่ก็มีเงินเพียงพอที่จะสนับสนุนสิ่งที่ลูกๆชื่นชอบ จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับรายได้ที่เข้ามา

พวกเขาสามารถเลือกได้ว่าพวกเขาจะชอบสิ่งไหนมากกว่ากัน ชอบโคกหรือแป๊ปซี่ อดิดาสหรือไนกี้ ดังนั้นแบรนด์จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนแนวคิดของพวกเขาเป็นอย่างมาก

Conformism – เขาบอกมาว่าดี

Conformism ( ตามกฎเกณฑ์สังคม ) จะมีภาพในหัวที่ชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่ควรจะทำ จุดมุ่งหมายของชีวิตคืออะไร เช่น การที่ลูกต้องเรียนจบมหาฯลัยดีๆ เข้าโรงเรียนดีๆ เเต่งตัวดีๆ การมีบ้านมีรถเป็นของตัวเอง มีงานที่มั่นคง จะต้องเเต่งงานอายุราวๆ 30 ถ้าทำได้ตามนี้ถือว่ามีชีวิตที่ดีและมีความสุข เป็นชุดความคิดสำเร็จรูป ซึ่งทำให้ฝันของชนชั้นกลางจะไม่แตกต่างกันมากนัก

เเต่ด้วยการเกิดขึ้นของเเนวคิด Conformism ในชนชั้นกลางจะสร้างกลุ่มที่ต่อต้านเเนวคิดนี้เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางที่มีเวลาพอที่จะตั้งคำถามยากๆ เช่น ชีวิตคืออะไร? อะไรคือ Passion ของฉัน  ชีวิตของเราใครเป็นคนกำหนดกันเเน่? ทำไมต้องทำตามคนอื่นด้วย…ปั๊ดโธ่ว!!!

อีกทั้งคนที่เป็นชนชั้นกลาง “ยุคใหม่” มีเเนวโน้มที่จะสนใจในเรื่องที่ต่างไปจากพ่อเเม่ของเขา โดยเฉพาะองค์ความรู้ที่ถูกเผยแผ่เป็นวงกว้างมากขึ้นกว่าสมัยก่อน เช่น ความรู้ด้านการเมือง สังคมวิทยา มานุษยวิทยา พวกเขาต้องการมองหาอะไรที่ลึกซึ้งกว่าปกติ

คนพวกนี้จะหาทางออกในการเเสดงตัวตนของตัวเอง ซึ่งแนวคิดบริโภคนิยมจะทำงานในจุดนี้ แต่ปัญหาจะเกิดทันทีเมื่อผู้คนตัดสินใจที่จะเป็นหนี้เพื่อมาซื้อสิ่งของที่ตัวเองอยากได้ เพื่อโชว์ความเป็นตัวของตัวเองเท่านั้น

Anxiety – ตื่นกลัวเกินความจริงเป็นระยะๆ

สิ่งหนึ่งที่คนจนกับคนรวยเหมือนกันคือ พวกเขาจะไม่ได้เเคร์มากนักว่าคนจะมองพวกเขายังไง

คนจนจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่เพียงให้พวกเขาสามารถมีชีวิตอยู่ได้วันต่อวัน ส่วนคนรวยจะสนใจแต่โลกเเละสังคมของพวกเขาเอง และอะไรที่พวกเขาต้องการตอนนี้ เดี๋ยวนี้

ชนชั้นกลางจะมีความเครียด มีภาวะตื่นตระหนกกดดันอยู่ 2 ประการหลักๆ คือ ทำอย่างไรให้รวยขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ กับ ทำอย่างไรไม่ให้ตัวเองตกลงไปอยู่ในชนชั้นล่าง เมื่อพวกเขารับการปฏิบัติอย่างไร้ความชอบธรรมหรือผิดปกติวิสัย การตื่นตระหนก 2 อย่างนี้จะโผล่เข้ามาในหัวทันที มันจึงเกิดประโยคทำนองว่า…

ทำแบบนี้จะรวยได้ไง? ทำแบบนี้อดตายกันพอดี? เสียเวลาทำมาหากินหมด? ทุกอย่างจะยึดโยงกับ “รายได้” แทบทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ชนชั้นสูงไม่ได้เเคร์อีกต่อไป พวกเขาจะมองหาอะไรที่ท้าทายกว่า เช่น “การมีอำนาจ”

ด้วยสภาวะ “อยู่ตัว” ของชนชั้นกลางทำให้รัฐบาลมักมองข้ามความเป็นอยู่ของพวกเขาเสมอ เป็นปัญหาที่เห็นได้ทั่วโลก ซึ่งคนที่ดูจะหนักใจที่สุดก็คงหนีไม่พ้นชนชั้นกลางระดับล่างและชนชั้นแรงงาน ซึ่งก็มีเหตุผลทุกประการที่พวกเขาจะเครียด เเล้วเมื่อพวกเขาเครียดพวกเขาก็จะมองหาความสุขเล็กๆน้อยๆเข้ามาเติมเต็มให้พวกเขาพอจะมีชีวิตอยู่ได้ในเเต่ละวัน มันส่งผลทำให้พวกเขาอยากจะซื้ออะไรสักอย่างในท้ายที่สุด

แล้วเเนวคิดบริโภคนิยมก็จะกลับมาทำงานในจุดนี้ วนอยู่อย่างงั้น เป็นวัฏจักร จนพวกเขาลืมว่าปัญหาที่เเท้จริงมันอยู่ที่อะไร

 

 

 

Sources : www.fastcompany.com – How our definition of middle class has–and hasn’t–changed in 100 years, en.wikipedia.org- American middle class, www.businessinsider.com – signs you’re probably not part of the middle class,www.researchgate.net – The new middle classes: Globalizing lifestyles, consumerism and environmental concern

follow

One thought on “ตกลงแล้ว…แค่ไหนถึงเรียกว่า“ชนชั้นกลาง” – Middle Class”

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.